เดินเรื่องง่าย ๆ ถ้าไม่ถูกท่าก็เป็นเรื่องใหญ่ได้
ปัญหาการใช้ชีวิตคนเมืองที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ ต้องวิ่งแข่งกับเวลา การทำงานดึงเวลาไปมากกว่าครึ่งของชีวิต เมื่อถึงเวลาพักก็ต้องการผ่อนคลาย แต่ซ้ำร้ายเมื่อได้หยุดพักจากงานกลับเพลิดเพลินในการเดินซื้อของ แต่ก็ต้องประสบปัญหาว่าเดินมากมักปวดหลัง ปวดเมื่อยน่อง เดินเยอะก็เหมือนขาจะทรุด บางรายถึงกับไม่มีแรงเดิน ชาร้าวลงขา ชาเท้า ปวดเข่า ปวดข้อเท้า เป็นรองช้ำ ยิ่งทำให้เป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้นไปอีก อาการดังกล่าวนี้ หากนอนพักแล้วอาการดีขึ้นก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากนอนพักแล้วอาการยังเป็นอยู่ และเป็นอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่เราก็นวดคลาย ทานยาหรือทางเลือกอื่นในการรักษา แต่อาการก็ยังรบกวนการใช้ชีวิตมากขึ้นทุกวัน

ท่าทางการเดินที่ถูกต้อง
ต้นเหตุที่แท้จริงอาจจะไม่ได้มาจากบริเวณที่มีอาการ แต่อาจเกิดจากส่วนแกนกลางของร่างกายนั่นคือ แนวกระดูกสันหลังก็เป็นได้ เนื่องจากแนวกระดูกสันหลังเป็นทางออกของรากประสาทที่ไปเลี้ยงและควบคุมการทำงานของร่างกายของอวัยวะทุกอวัยวะ หากแนวกระดูกสันหลังของเราผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกคด เอียง – บิด กระดูกสันหลังค่อมหรือแอ่นมากเกินไป จะไปรบกวนการทำงานของระบบต่างๆ ทันที
เดินสวยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างร่างกายและแนวกระดูกสันหลัง
อิริยาบถ “เดิน” เป็นอิริยาบถที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้แนวกระดูกสันหลังอยู่ในความโค้งที่ผิดปกติ และ นำมาซึ่ง ความเจ็บปวดหรือร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ การเดินของคนเราหากลองสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่า ท่วงท่าการเดินของแต่ละคนแตกต่างกันออกไปตามความเคยชิน ตามสภาพร่างกาย ตามความแข็งแรง ของโครงสร้างร่างกาย ซึ่งน้อยคนนักจะทราบว่า การเดินในท่าทางบางอย่างอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดความเจ็บป่วย หรือเป็นบันไดที่จะก่อให้เกิดโรคร้ายแรงถึงชีวิตได้
การเดินในทางวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวสามารถแบ่งออกได้ใหญ่ๆ 2 ช่วงคือ
ช่วงที่เท้าอยู่บนพื้น (Stand phase) และ ช่วงที่เท้าลอยขึ้นจากพื้น (Swing phase) ในแต่ละช่วงก็จะแยกย่อยเป็นรายละเอียดอีกมาก แต่ถ้าจะทำความเข้าใจง่ายๆ การเดินจงกรมถือเป็นท่าเดินที่ใกล้เคียงกับการแบ่งช่วงการเดินมากที่สุด ในแต่ละช่วงการเดินต่างก็อาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อเฉพาะมัดที่มีหน้าที่หลักในการทำงาน ซึ่งกรณีนี้เราอาจไม่ใส่ใจมากนักเพราะเราคิดว่า เดินเป็นตั้งแต่เด็กแล้ว

การเดินจงกรม
อันที่จริงการเดินที่ถูกฝึกมาดีจะใช้กล้ามเนื้อขาเดิน ตรงกันข้ามหากการเดินเป็นเพียงอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยเรามิได้ใส่ใจว่าจะต้องเป็นกล้ามเนื้อมัดไหนทำงาน เราอาจเดินด้วยกล้ามเนื้อหลัง หน้าท้อง ข้อสะโพกฯลฯ จึงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ กับร่างกาย
คนที่เดินแบบใช้ข้อต่ออัดกัน เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว ไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อที่มีหน้าที่ในการเดินให้เต็มที่นั้น จะสังเกตง่ายๆ คือ เวลาเดินสะโพกจะยักไปมามากกว่าปกติ เดินพุงแอ่นไปด้านหน้า เดินขาบิดๆ เข่าแอ่น ไหล่งุ้ม ซ้ำร้ายหากเป็นสาวๆ ที่ใส่ส้นสูง ส้นแหลม ก็ยิ่งเร่งวันให้ร่างกายเสื่อมโทรมมากกว่าเวลาอันควร
ตรงกันข้ามกับคนที่เดินด้วยการใช้กล้ามเนื้อมัดที่ทำหน้าที่เพื่อทรงตัวในการเดิน เวลาก้าวขาใช้กล้ามเนื้อมัดนี้เต็มที่ก็จะทำให้เกิดความสมดุลที่ระบบกระดูกกล้ามเนื้อ และให้ความมั่นคงกับแนวกระดูกเชิงกรานที่ถือว่าเป็นกระดูกชิ้นสำคัญ ที่จะทรงให้กระดูกสันหลังอยู่ในแนวที่ถูกต้อง แถมเป็นการออกกำลังกายขณะเดินด้วย Deep Muscle Exercise
ตรวจสอบท่าเดินของท่านก่อนว่าถูกต้องหรือไม่
หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ใช้กล้ามเนื้อในการเดินไม่ถูกต้องในการเดินนั้นอาจส่งผลร้าย ทำให้กระดูกสันหลังผิดรูป เชิงกรานบิด ไม่สมดุล เนื่องจากกระดูกสันหลังเป็นจุดรวมของรากประสาททั้งหมด เมื่อกระดูกสันหลังบิด/คด ไม่เรียงตัวอยู่ในแนวที่ถูกต้อง ย่อมกระทบต่อรากประสาทที่ควบคุมการทำงานของทุกส่วนในร่างกายให้ด้อยประสิทธิภาพลง จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำมาซึ่งความเจ็บป่วย เมื่อยล้า และเป็นโรคร้ายแรงได้ในที่สุด
เมื่อใดที่การเดินของท่านทำให้ท่านรู้สึกไม่อยากเดิน นั่นก็เป็นสัญญาณเตือนของร่างกายอีกอย่างหนึ่ง ที่จะบอกว่าท่านอาจเป็นคนหนึ่งที่มีโครงสร้างร่างกายไม่สมดุลและเป็นต้นเหตุแห่งการปวดเมื่อยเรื้อรัง ที่กำลังเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวันก็เป็นได้
ดังนั้นลองหันกลับมาใส่ใจท่าทางของ อิริยาบถ “เดิน” เพราะการเดินก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการยืน นั่ง และนอน หันมาดูแลสุขภาพร่างกายให้พร้อมรับมือกับความเจ็บป่วยตั้งแต่วันนี้ เริ่มต้นจากการเรียนรู้อยู่ในอิริยาบถที่ถูกต้อง เพื่อให้มีโครงสร้างร่างกายที่สมดุล เพราะการมีโครงสร้างร่างกายที่สมดุล เป็นเหตุใกล้ให้ได้มาซึ่งการมีสุขภาพดี และอย่าลืมดูแลจิตใจให้มีการรับรู้ที่ดีๆ เพราะการมีสุขภาพดีที่แท้จริง ต้องดีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ เพราะ ….. “จิตใจที่แจ่มใส ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง”