ปรับโครงสร้างร่างกาย ช่วยลดอาการปวดคอ ลดความเสี่ยงเสียสุขภาพชีวิต
เนื่องจากผู้คนในสังคมปัจจุบันที่ยังต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่นั้น เชื่อได้แน่เลยว่าเกือบทุกอาชีพมีลักษณะการทำงานที่มักต้องทำอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ เกือบทุกคนต้องก้มคอต้องก้มหลังทำงาน บ้างก็เป็นการทำงานที่ต้องนั่งหรือยืนทำท่าที่ซ้ำๆ ต้องอยู่ในท่าเดิมนานต่อเนื่องเป็นเวลานาน
แล้วผลจากการอยู่ในท่าทางดังกล่าวจึงทำให้วัยทำงานประสบปัญหากับอาการปวดคอ บ่า ปวดร้าวขึ้นศีรษะ นอนไม่หลับ หงุดหงิด กระสับกระส่าย สมาธิสั้นรบกวนการทำงาน บางทีอาจมีอาการปวดร้าวลงแขน หรือมีอาการอ่อนแรงของแขนร่วมด้วย หนักไปกว่านั้นอาจจะพบว่ามีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่ค่อยอิ่ม เหนื่อยง่าย ต้องพึ่งยาแก้ปวดบ่อยๆ ฯลฯ เป็นต้น
แล้วเราจะแก้ไขหรือป้องกันได้อย่างไรดี
อาการปวดคอ สาเหตุมาจากอะไร
โดยมากแล้ว สาเหตุที่มีอาการเหล่านี้ก็เนื่องมาจากท่าทางการทำงานที่ผิดปกติ ส่งผลให้กระดูกกล้ามเนื้ออยู่ในแนวที่ไม่ถูกต้องเป็นต้นว่าการนั่งทำงานส่วนใหญ่ที่ต้องนั่งก้มไปด้านหน้า หลังค่อม ไหล่งุ้ม คอและคางยื่น ศีรษะยื่นไปด้านหน้า แล้วถ้าหากเป็นงานที่ต้องใช้แรงแขนหรือออกแรงมาทางด้านหน้าทั้งที่ยังก้มอยู่ ตัวอย่างเช่น หมอฟัน ก็อาจก่อให้เกิดปัญหายิ่งกว่าปกติด้วยซ้ำ เพราะกล้ามเนื้อหน้าอกก็จะยิ่งเกร็งมากขึ้น
จากท่าทางที่กล่าวมา จะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อต้นคอด้านหน้า กล้ามเนื้อหน้าอก กล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจช่วยในการขยายตัวของชายโครง(Internal intercostals muscle) จะหดสั้นลง และรั้งจนทำให้แนวกระดูกสันหลังช่วงคอและช่วงอกค่อม หากมีการยึดรั้งมากๆ จะทำให้ไม่สามารถหายใจเข้าลึกๆ ให้เต็มปอดได้ การขยายตัวของชายโครงขยายตัวได้น้อยอากาศก็จะเข้าได้น้อยด้วย
นอกจากนี้ ออกซิเจน (Oxygen) ก็ถือเป็นอาหารของเนื้อเยื่อและเซลล์ต่างๆหากร่างกายนำไปใช้ได้น้อยก็จะทำให้เซลล์ไม่แข็งแรง อ่อนแอและไม่สามารถต้านภัยต่างๆที่จะกระทำต่อร่างกายได้ กล้ามเนื้ออีกมัดที่พบปัญหาได้บ่อยคือกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นคอ(Anterior Scalene muscle) เป็นกล้ามเนื้อซึ่งถือเป็นทางผ่านของหลอดเลือดหลักที่ไปเลี้ยงสมอง (Vertebral Artery) เส้นประสาท ท่อทางเดินน้ำเหลือง หากมีการเกร็งตัวหรือหดรัดกล้ามเนื้อมัดนี้มากเกินไปก็มีผลต่อการไหลเวียนของเลือดได้ ส่วนด้านหลังต้นคอ ท้ายทอย (Neck Extensor Muscle) กล้ามเนื้อบ่า (Trapezius Muscle) หลังช่วงสะบัก (Rhomboid muscle) ก็จะยืดยาวออกมากกว่าปกติ จนทำให้กล้ามเนื้อต้องอ่อนแรงจากการถูกยืดค้างและเป็นพังผืดยึดเป็นก้อน มีจุดกดเจ็บ (Trigger point) อาการเรื้อรัง มีอาการร่วมกับอาการปวดร้าวไปตามแขน ร้าวขึ้นกะโหลกศีรษะ (Refer pain) อาการจะมากขึ้นหรือรุนแรงขึ้นเมื่อทำงานมาก หรือมีภาวะเครียด (Stress)
ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะเป็นอาการของการปวดเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ (Myofascial pain syndrome= MPS) เป็นกลุ่มอาการที่มักพบได้มากในกลุ่มวัยทำงาน มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน และมักจะรักษาไม่หายขาด รบกวนการทำงานและทำให้ศักยภาพการทำงานลดลง การรักษาส่วนใหญ่ของผู้มีกลุ่มอาการนี้ มักเป็นวิธีลดปวดหรือบรรเทาอาการ แต่ส่วนใหญ่จัดเป็นกลุ่มออฟฟิศ คือยังคงต้องทำงานอยู่จึงทำให้อาการนั้นไม่หายขาด แต่ทั้งนี้ก็เกิดจากการจัดการรักษาที่ไม่ถูกต้อง และไม่ครอบคลุมปัญหาที่เป็นต้นเหตุที่แท้จริงจึงทำให้อาการกลับมาได้เรื่อยๆ
ภาวะที่อาจตามมาจากการปวดคอ
นอกจากอาการที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่านี้ก็คือ เมื่อกล้ามเนื้อมีการเกร็งตัวหรืออยู่ในความยาวที่ไม่ปกติอาจจะหดสั้นมากไปหรืออาจจะยืดยาวมากไป นานเข้าจะมีผลต่อการวางตัวหรือต่อข้อกระดูกช่วงคอ อาจทำให้บิดเบี้ยว ความโค้งหรือการวางเรียงตัวไม่อยู่ในภาวะที่ปกติ มีการทรุดตัว หรือมีการเสื่อมของหมอนรองกระดูก จนทำให้กระดูกต้องเสียดสีกัน มีการรบกวนรากประสาทที่ออกมาเลี้ยงระยางค์ เป็นต้น
ซึ่งกระดูกช่วงคอมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือจะมีส่วนที่เป็นช่องว่างให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองผ่าน (vertebral artery) ซึ่งหากมีความผิดปกติของกระดูกคอที่มีการบิดหมุนอาจมีภาวะความบกพร่องของการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง อาจทำให้วิงเวียนศีรษะ (Dizziness) เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ แล้วหากมีภาวะของโรคอื่นๆที่เป็นร่วมด้วยเช่น คลอเรสเตอรอลสูง หลอดเลือดหนาเกร็งตัว (Artherosclerosis) ก็อาจเป็นปัจจัยที่จะเกิดสมองขาดเลือด หรือเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบตันได้
ภาพรวมของอาการปวดคอ ปวดบ่า หรือปวดสะบัก ดูผิวเผินแล้วก็เป็นอาการที่ดูเหมือนไม่มีอันตรายมากมาย แต่หากได้เข้าใจถึงกลไกลการเกิดความผิดปกติของภาวะกระดูกและกล้ามเนื้อแล้ว ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากพอสมควร เรื่องนี้นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ค่อนข้างอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายได้ จึงจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยอย่างที่คิด และไม่ควรปล่อยละเลยอาการดังกล่าว เพราะจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่ตามมาได้นั่นเอง
การปรับโครงสร้างร่างกาย คืออะไร
การปรับโครงสร้างร่างกายก็คือ การปรับสภาวะของระบบกระดูกกล้ามเนื้อที่ไม่สมดุล เนื่องมากจากการทำงานที่มากเกินไปหรือการอยู่ในท่าที่ผิดปกติให้อยู่ในภาวะที่สมดุล
อีกทั้งกล้ามเนื้อมัดที่ยืดยาวก็มีการบริหารเฉพาะมัดเพื่อให้อยู่ในความยาวที่ปกติ มัดที่หดสั้น เกร็งตัวก็ทำให้คลายตัวอยู่ในแนวที่เหมาะสม สร้างความสมดุลของกล้ามเนื้อที่ต้องใช้งานหนักให้แข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งาน รวมถึงฝึกการเรียนรู้ที่จะอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง แนะนำการจัดตำแหน่งของอุปกรณ์การทำงานให้อยู่ในระดับที่ถูกต้อง การจัดการในทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องถือเป็นการปรับสภาวะให้มีโครงสร้างร่างกายที่ถูกต้องอย่างถาวร
นอกจากนี้การปรับกล้ามเนื้อให้แข็งแรงสมดุลก็จะทำให้กระดูกที่วางอยู่ในความโค้งที่ไม่ถูกต้องกลับมาอยู่ในแนวที่ถูกต้องได้ นอกจากการปรับที่คอแล้วกล้ามเนื้อส่วนอื่นที่มีผลเกี่ยวข้องด้วยเช่นกล้ามเนื้อหลัง(Back Extensor muscle) หรือกล้ามเนื้อที่ช่วยในการยืน (Glutei muscle) ในส่วนนี้หลายคนอาจเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกันแต่ในความเป็นจริงกล้ามเนื้อมัดดังกล่าวสำคัญมากพอกันเนื่องจากเสมือนเป็นฐานให้กระดูกสันหลังได้มั่นคง การปรับโครงสร้างร่าวงกายก็รวมไปถึงการทำให้กล้ามเนื้อเหล่านี้แข็งแรงและสมดุลไปด้วย
หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่อยากมีสุขภาพดีไม่เจ็บป่วย ไม่เป็นภาระของลูกหลานยามแก่ชรา การฟังสัญญาณของร่างกายเพื่อจะได้ทราบถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น จะได้รับการรักษาและดูแลตัวเองให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันการเจ็บป่วยที่รุนแรง การมีโครงสร้างร่างกายที่ดีเสมือนเป็นการส่งเสริมให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อสิ่งภายนอกที่จะมารบกวน ส่งเสริมให้เซลล์ในร่างกายแข็งแรง เป็นการต้านโรคภัยได้อีกวิธีหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ การมีจิตใจดีงาม มีทัศนคติที่ดี ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เรามีสุขภาพที่ดีได้อย่างแท้จริง เพราะ จิตใจที่แจ่มใส ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง
หากสนใจบริการของเรา สามารถคลิกได้ที่ ariyawellness.com/services/
ช่องทางติดต่อ Inbox ทางเพจ Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/ariyawellnesscenter