ปวดเข่า ปวดเสียวแปล๊บหัวเข่า อาจกลายเป็นเข่าเสื่อม เสียงเตือนจากร่างกายที่ควรระวัง เพราะอาจจะกลายเป็นอาการเข่าเสื่อมได้
สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน พบกันเช่นเคยกับการทำความรู้จักร่างกายตนเอง ท้าวความจากฉบับที่แล้วมีหลายท่านที่มีความสงสัยจากการอ่านบทความได้โทรมาสอบถามเพิ่มเติมมาก ซึ่งฉบับก่อนนั้นผู้เขียนได้กล่าวถึงอาการปวดหลัง ปวดก้น ลุกลามจนทำให้เกิดอาการที่เข่า แต่ไม่ได้เจาะลึกถึงรายละเอียดของอาการปวดเข่า จึงทำให้หลายท่านเกิดความสงสัยว่า อาการปวดเข่าที่เป็นนั้นใช่สาเหตุจากกล้ามเนื้อก้นอ่อนแรง กล้ามเนื้อไม่สมดุล หรือเป็นเข่าเสื่อมกันแน่ อันดับแรกเรามาทำความรู้จักกับอาการปวดเข่าจากกล้ามเนื้อไม่สมดุล และอาการเข่าเสื่อมว่าแตกต่างกันอย่างไรก่อนนะคะ เพราะอาการปวดเข่าไม่จำเป็นต้องเป็นเข่าเสื่อมเสมอไปค่ะ แต่ถ้าดูแลไม่ถูกต้องเรื้อรัง จากอาการปวดเข่าธรรมดาอาจเลื่อนขั้นไปเป็น “เข่าเสื่อม”
ปวดเข่า อาการ มีอะไรบ้าง
โรคเข่าเสื่อมนั้นสามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนจากอาการ ซึ่งอาจแสดงอาการดังต่อไปนี้
จากการประมวลอาการของแต่ละเคส เริ่มต้นจะรู้สึกเมื่อยๆ ที่ก้นทั้งสองข้างเมื่อนั่งนานๆ และความเมื่อยจะเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะ4-6 เดือน หลังจากนั้นก็รุนแรงขึ้นจนกลายเป็นอาการปวดก้นทั้งสองข้าง และความปวดก็ลุกลามมาต้นขาด้านหลัง บางเคสก็ปวดตรงบั้นเอวและกระเบนเหน็บมาก และจะรู้สึกขัดๆ ในขาหนีบด้านหน้า ท่านที่เป็นมานานจะมีอาการขัดๆ เสียวๆ ที่เข่าด้านนอกด้วย จากที่เคยนั่งได้เป็นชั่วโมงแล้วจึงรู้สึกปวด ก็กลายเป็นนั่งเพียง 5 – 10 นาทีก็มีอาการปวดขึ้นมา แม้จะพลิกก้นไปมาก็ไม่สบายขึ้น หลายเคสมีการทานยา แรกๆ ก็ดีขึ้น แต่หลัง ๆ เคสพูดเหมือนกันว่า “ตอนนี้ทานยาไปก็ไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้นและก็ทำให้มีปัญหามากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน” มีท่านหนึ่งเป็นผู้บริหารต้องนั่งประชุมทั้งวัน จะลุกเปลี่ยนท่า จะขยับตัวก็เกรงใจที่ประชุม ยอมทนนั่งปวดจนชาลงขาเลยค่ะ ฟังแล้วน่าเห็นใจมากนะคะ แต่ละเคสก็ผ่านการรักษามามากค่ะ บางรายไปนวดจนช้ำเป็นจ้ำเขียวๆ เต็มก้น เขาบอกว่านวดแล้วสบาย แต่หลังจากนวดวันสองวันก็เป็นอีก จึงไปนวดซ้ำๆ บ่อยๆ เคสพูดแบบขำๆ ให้ฟังว่า จากอาการปวดกลายเป็นอาการบอบช้ำระบมรึเปล่าจึงรู้สึกดีขึ้น (แต่ก็ยอมเจ็บจนตัวเขียวนะคะ) มีบางเคสไปทำ MRI เพื่อหาความผิดปกติเนื่องจากถูกสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท แต่ก็ไม่พบว่ามีปัญหาการกดทับเส้นประสาทที่หลังแต่อย่างใด
- มีอาการปวดเข่า เมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือมีการเดินลงน้ำหนัก แต่เมื่อพักจะดีขึ้นและหากเป็นมากจะปวดตลอดเวลา
- ข้อติดแข็ง ส่วนมากจะพบในตอนเช้าหลังตื่นนอนใหม่ๆ หรือเมื่ออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ต่อเนื่องโดยไม่ได้ขยับ
- รอบข้อเข่าบวม อาจพบอาการแดงและร้อนเมื่อลองคลำบริเวณรอบเข่า
- มีการผิดรูปของข้อเข่า ซึ่งเกิดจากผิวข้อ (Cartilage) บางลง แล้วกระดูกมีการเสียดสีกัน จนเกิดกระดูกงอก ทำให้เข่าผิดรูปและขยาย จึงพบว่าผู้ที่มีเข่าเสื่อมรุนแรง รอบข้อเข่าจะใหญ่ขึ้น
- มีเสียงดังภายในข้อเข่า ซึ่งอาจเกิดจากการเสียดสีของผิวข้อภายในข้อเข่า
หากมีการ X-Ray จะพบว่าช่องว่างระหว่างกระดูกข้อเข่าจะแคบลง กระดูกผิวข้อบางลง และอาจพบกระดูกงอกได้ การวินิจฉัยอาจต้องร่วมกับปัจจัยเหล่านี้เช่น อายุเกิน 50 ปี มีน้ำหนักตัวหรืออ้วนมากกว่าปกติ ประวัติการทำงานหรืออุบัติเหตุที่อาจทำให้มีความเสื่อมของข้อได้ง่าย ฯลฯ
เสียวเข่า แปล๊บที่เข่า เพราะอะไร
ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงอาการและอาการแสดงของข้อเข่าเสื่อมแล้วนะคะ เรามาดูกันต่อค่ะว่าหลายๆ ท่านที่ปวดเข่า เสียวเข่า หรือแปล๊บๆ เข่า เมื่อยๆ ล้าๆ ในข้อเข่าแต่ไม่ใช่เข่าเสื่อมนั้น เกิดจากปัญหาใดกันแน่ จากบทความฉบับที่แล้วเราพูดถึงภาวะกล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุลกัน (Muscle Imbalance) ซึ่งได้กล่าวถึงภาวะปวดหลัง ปวดก้น ที่เกิดจากกลุ่มกล้ามเนื้อก้นอ่อนแรง (Gluteal Muscles) แล้วทำให้กล้ามเนื้อด้านข้างต้นขาเกิดการตึงตัวมากกว่าปกติ (Iliotibialband) ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากเพราะส่วนนี้จะเป็นตัวที่ให้ความมั่นคงต่อข้อเข่าด้านนอก ซึ่ง band นี้จะทอดยาวตั้งแต่ขอบนอกของกระดูกเชิงกรานข้ามข้อสะโพกแผ่ไปเกาะที่ด้านข้างกระดูกสะบ้า (Patella bone) ข้ามเข่า ไปเกาะที่ขอบนอกด้านบนกระดูกหน้าแข้ง (Gerdy’s tubercle) แผ่ไปรวมกับเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Biceps femoris tendon) จากจุดเกาะดังกล่าวจึงทำให้เมื่อต้องมีการงอ-เหยียดเข่าซ้ำๆ บ่อยๆ จะเกิดการเสียดสีที่เยื่อนี้ทำให้เยื่อหนาตัวขึ้น และกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการเจ็บแปล๊บที่ด้านนอกของข้อเข่า
ซึ่งกลุ่มอาการนี้จะเรียกว่า “Iliotibial Band Syndrome” จะพบมากในกลุ่มผู้ออกกำลังกายเช่น วิ่ง ฟุตบอล บาสเก็ตบอล ฯลฯ อาการปวดเสียวที่เข่าจากสาเหตุนี้มักพบร่วมกับอาการตึงเจ็บที่ต้นขาด้านนอก ซึ่งอาจปวดตึงร้าวจากด้านข้างของข้อสะโพก หรือมีจุดกดเจ็บเหนือข้อพับด้านหลัง กลุ่มนี้กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังจะตึงมาก อาการจะเป็นมากหากต้องเดินนานๆ หรือหลังจากออกกำลังกายดังที่กล่าว แยกได้ง่ายมากค่ะกับโรคเข่าเสื่อมเพราะกลุ่มนี้มักพบในนักกีฬาวัยกลางคน ซึ่งอาจยังดูแข็งแรงดีอยู่ แต่ก็มีจุดอ่อนในส่วนที่ละเลย จนทำให้มีอาการเรื้อรัง มีหลายเคสที่มาสถาบันอริยะ อายุเพียง 30 ต้นๆ มาด้วยอาการปวดเสียวที่เข่าด้านนอก และเริ่มมีอาการเข่าบิดเข้าด้านใน เป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลมาตั้งแต่อายุสิบกว่าปี เล่นบาสฯ และวิ่งไม่ได้มาสาม-สี่ปีแล้ว ดูแลกันไม่ถึงเดือนค่ะก็สามารถกลับไปวิ่ง ไปเล่นบาสฯได้เหมือนเดิม เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่กล้ามเนื้อแข็งแรงดีอยู่แล้ว สร้างง่าย เพียงให้เขารู้ว่าสิ่งที่เป็นเกิดจากสาเหตุไหน มีวิธีการในการดูแลรักษาตัวเองอย่างไร อาการก็พัฒนาได้อย่างรวดเร็วค่ะ
เราพูดถึงอาการปวดเสียวเข่าด้านนอกไปแล้ว ยังมีอีกกลุ่มค่ะ คือ กลุ่มที่มีอาการปวดเสียวเข่าด้านใน ซึ่งอาการที่กล่าวมาบางท่านอาจปวดเสียวทั้งด้านนอกและด้านในเข่า นั่นก็เพราะกล้ามเนื้อที่ให้ความมั่นคงของข้อเข่าไม่ว่าจะเป็นด้านนอก ด้านใน ด้านบนหรือด้านล่างทำงานไม่สมดุลนั่นเองค่ะ ที่พบส่วนใหญ่จะมาจากกล้ามเนื้อด้านข้าง (Iliotibialband) และกลุ่มที่จะกล่าวต่อไปคือ การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อต้นขาด้านใน (Vastus Medialis Oblique) ซึ่งมัดนี้เป็นมัดที่ให้ความมั่นคงของลูกสะบ้าด้านใน กลุ่มนี้จะพบมากในวัยกลางคน เนื่องจากกล้ามเนื้อ มัดนี้มีแนวโน้มอ่อนแรงอยู่แล้ว จากท่าทางการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งในรายละเอียดคงต้องอธิบายกันอีกมากค่ะ เอาเป็นว่าเราทำความรู้จักกับกล้ามเนื้อมัดนี้ในฉบับหน้าแล้วกันนะคะ
อย่าลืมนะคะ หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่ร่างกายกำลังส่งเสียงเตือนบางสิ่งอยู่ อย่าละเลยนะคะ เพราะจากที่เป็นเพียงเล็กน้อยอาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ได้โดยท่านคาดไม่ถึง โรคเข่าเสื่อมก็เหมือนกันค่ะ หากอาการปวดเสียวเข่าที่ท่านกำลังรู้สึกอยู่ ไม่ได้รับการดูแลหรือออกกำลังกายให้ถูกกับต้นตอของปัญหา ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคเข่าเสื่อมได้ค่ะ ซึ่งถ้าเป็นแล้วไหนจะต้องทนกับอาการเจ็บปวด แล้วยังไม่สามารถรักษาให้คืนกลับเหมือนเดิมได้ ตรงกันข้ามหากท่านฟังเสียงของร่างกายแต่ต้น รักษาให้ถูกทางแต่เนิ่น ก็จะทำให้ท่านสามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตค่ะ
vastus medialis oblique muscle
ปวดเข่า สาเหตุ ของกล้ามเนื้อ
อาการปวดเข่าที่เกิดจากความไม่สมดุลของลูกสะบ้าต้องสืบค้นหาข้อเท็จจริงว่าความไม่สมดุลนั้นเกิดจากโครงสร้างไหน? จึงจะออกแบบการรักษาและการออกกำลังกายเฉพาะบุคคลได้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถปรับหมุนอะไหล่ให้ได้เหมือนเครื่องจักร การออกกำลังกายเข่า การสร้างกล้ามเนื้อขาในความเข้าใจที่ผิด ทำให้เกิดอาการปวดและบาดเจ็บเรื้อรัง
สำหรับอาการปวดเข่าจากสาเหตุของกล้ามเนื้อด้านนอกต้นขาที่มีความตึงตัวมากเกินไป หรือ (Iliotibial band ) ซึ่งขอกล่าวทวนเล็กน้อยนะคะว่า เข่าของคนเราประกอบด้วยข้อต่อ 2 ข้อ ซึ่งประกอบด้วยข้อต่อจากขาท่อนบน (Femur bone) เชื่อมกับกระดูกขาท่อนล่าง (Tibia bone) และอีกข้อหนึ่งที่มักจะเป็นปัญหาทำให้ปวดเข่าก็คือข้อต่อที่เป็นส่วนของกระดูกต้นขา (Femur bone) กับกระดูกสะบ้า (Patellar bone) ตรงนี้ล่ะค่ะที่มักจะเป็นปัญหาทำให้มีอาการปวดเสียวในข้อเข่า กระดูกสะบ้าเป็นกระดูกที่ลอยตัวอยู่บนด้านหน้าข้อเข่า ซึ่งจะอยู่ตรงกลางร่องของกระดูกต้นขาพอดี กระดูกชิ้นนี้ทรงอยู่ได้ด้วยมีเนื้อเยื่อต่างๆ พยุงไว้รอบด้าน เสมือนมีเชือกขึงเอาไว้ด้วยความตึงเท่าๆ กันทั้งด้านบน ด้านล่าง ด้านในและด้านนอก ซึ่งฉบับก่อนเราได้ทราบแล้วว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เข่ามีปัญหาคือกล้ามเนื้อ ด้านนอกต้นขาตึงมากเกินไป ฉบับนี้เรามาทำความรู้จักกล้ามเนื้อด้านใน ด้านบนและด้านล่าง กันต่อเลยนะคะ
กล้ามเนื้อที่ค่อนข้างเป็นปัญหาและพบบ่อยคือมัดที่พยุงไว้ด้านใน มีชื่อเรียกว่า vastus medialis oblique muscle เป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่อยู่ด้านในต้นขา กล้ามเนื้อมัดนี้จะเป็นเหมือนเชือกที่ดึงอยู่ด้านในของลูกสะบ้าเพื่อความมั่นคงแข็งแรงของลูกสะบ้าด้านใน กล้ามเนื้อมัดนี้จะวางทอดยาวตลอดแนวต้นขาด้านในและแผ่มาเกาะที่ขอบในของสะบ้าจากด้านบนจนถึงด้านล่าง เยื่อเอ็นของกล้ามเนื้อมัดนี้จะแผ่ผสานไปกับเอ็นที่ขึงลูกสะบ้าด้านบน ซึ่งเป็นเอ็นที่ทอดมาจากกล้ามเนื้อที่ให้ความมั่นคงของสะบ้าด้านบน คือกล้ามเนื้อที่ชื่อ Quadriceps muscle ส่วนด้านล่างจะเป็นเอ็นที่ค่อนข้างหนาและแข็งแรงให้ความมั่นคงกับสะบ้าด้านล่าง มีชื่อว่า Patellar tendon ซึ่งจะแผ่ผสานรวมเช่นเดียวกัน เมื่อเทียบความมั่นคงแข็งแรงรอบด้านแล้ว ด้านบนและด้านล่างจะค่อนข้างแข็งแรง มักไม่เกิดปัญหาการบาดเจ็บเท่าไหร่
เห็นไหมคะว่า เยื่อเอ็นที่แผ่มาจากด้านในมีผลต่อความมั่นคงของกระดูกสะบ้ามากเพียงใด เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าถ้ากล้ามเนื้อมัดนี้ไม่มีความแข็งแรงพอก็จะส่งผลให้แนวการวางตัวของกระดูกสะบ้าบิดออกจากแนวสมดุลค่ะ จากภาพที่แสดงจะเห็นลูกสะบ้าขณะมีการเคลื่อนไหวเข่า ก็จะเคลื่อนขึ้น-ลงอยู่ในร่องของกระดูกต้นขา หากกระดูกชิ้นนี้มีการบิดซ้าย-ขวาหรือไม่สมดุล จะทำให้เวลาเคลื่อนไหวโดยเฉพาะการงอ-เหยียดเข่าจะทำให้เกิดอาการขึ้นมาได้ อาการปวดจะเสียวๆ เจ็บด้านในเข่าหรืออาจเจ็บด้านหน้าหัวเข่า ทั้งนี้เกิดจากการเสียดสีของผิวข้อและ เกิดการอักเสบขึ้นมา แต่เนื่องจากข้อเข่าเป็นข้อที่ต้องถูกใช้งานตลอดเวลาที่เราขยับขา เมื่อเดิน-ยืนก็ยิ่งเกิดแรงอัดไปที่ข้อมากขึ้น ดังนั้นเมื่อมีการอักเสบหรือบาดเจ็บจึงทำให้เป็นเรื้อรังได้ง่ายหากรักษาไม่ถูกวิธีหรือไม่ได้รักษาตรงจุดที่เป็น ท่านที่มีปัญหาจากกรณีนี้มักจะบ่นว่าปวดเสียวๆ ในเข่าด้านหน้า บางรายระบุได้ชัดเจนว่าปวดเสียวใต้ลูกสะบ้า กลุ่มที่เห็นได้ชัดเจนจากอาการปวดเข่าด้วยกรณีนี้ มักเป็นกลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มที่อายุน้อยอยู่ นักกีฬาบางชนิดเช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล เทนนิส วิ่ง ปั่นจักรยาน ฯลฯ
เป็นอย่างไรบ้างคะ? ท่านเป็นอีกคนที่มีเสียงเตือนจากร่างกายอยู่หรือเปล่า? หลายเคสที่เล่าให้ผู้เขียนฟัง เคยคิดว่าการออกกำลังกายเข่าหรือการสร้างกล้ามเนื้อขาคือการวิ่ง การกระโดด การปั่นจักรยาน แต่ถ้าอาการปวดเข่ามาจากกรณีนี้ การวิ่ง การกระโดดหรือการปั่นจักรยานอาจทำให้เกิดอาการปวดและบาดเจ็บเรื้อรังได้ เพราะจะทำให้เกิดการเสียดสีทุกครั้งที่เล่นกีฬาดังกล่าว แล้วการบริหารให้ลูกสะบ้าสมดุลนั้นต้องทำอย่างไร? ถ้าร่างกายของคนเราเหมือนเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรกล ก็คงสามารถบอกได้ว่าต้องหมุนอะไหล่ส่วนไหนให้แน่นหรือให้ปรับตรงนั้นตรงนี้ แต่เพราะร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางครั้งอาการปวดที่จุดเดียวกันแต่ต้นตอของปัญหามาจากคนละทาง การออกแบบการรักษาหรือการออกแบบท่าออกกำลังกายก็แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกัน หากการปวดเข่าที่เป็นอยู่เกิดจากความไม่สมดุลของลูกสะบ้า และความไม่สมดุลนั้นเกิดจากโครงสร้างไหน สิ่งที่สถาบันอริยะให้ความสำคัญมากที่สุดคือการสืบค้นและวิเคราะห์หาต้นตอที่แท้จริงของความไม่สมดุลที่เกิดขึ้น เมื่อพบแล้วจึงสามารถออกแบบการรักษาและการออกกำลังกายให้ได้ ซึ่งถือเป็นการดูแลเฉพาะบุคคลค่ะ
เราได้รู้จักข้อเข่าและเข้าใจอาการปวดของเข่าโดยค่อนข้างละเอียด คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวท่านเองแล้วล่ะค่ะหากร่างกายกำลังส่งเสียงเตือนสิ่งใดอยู่ ท่านก็น่าจะสามารถแยกแยะและดูแลได้ถูกต้องถูกทางมากขึ้นนะคะ แต่หากลองพยายามจัดการหรือรักษาด้วยตัวเองสักพักแล้วอาการไม่หายขาด ไม่ดีขึ้น ยังรบกวนการใช้ชีวิตของท่านอยู่ ก็แวะมาสอบถามที่สถาบันอริยะได้นะคะ พบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ
หากสนใจบริการของเรา สามารถคลิกได้ที่ ariyawellness.com/services/
ช่องทางติดต่อ Inbox ทางเพจ Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/ariyawellnesscenter