มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพัฒนาการทางร่างกายสูงสุด แตกต่างจากสัตว์อื่นโดยสิ้นเชิงคือพัฒนาการของระบบกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นแนวตั้งฉากกับพื้นระนาบ นั่นหมายความว่า แนวกระดูกสันหลังต้องอาศัยความมั่นคงและทนทานมากกว่าส่วนอื่น เพราะต้องทำงานตลอดเวลาที่ลำตัวตั้งฉากกับพื้น มนุษย์จึงมีโครงสร้างกระดูกสันหลังที่ต้องมีกล้ามเนื้อเพื่อให้ความมั่นคง ขณะที่เราอยู่ในท่ายืน การรับน้ำหนักเท้าทั้งสองข้างจึงมีผลโดยตรงต่อแนวกระดูกเชิงกราน , กระดูกสันหลังและเชื่อมโยงต่อไปถึงคอ ดังนั้นอิริยาบถ “ยืน” ก็สำคัญไม่แพ้อิริยาบถอื่นๆ และมีผลกระทบโดยตรงกับโครงสร้างร่างกายเพราะเมื่อยืนผิด การลงน้ำหนักที่เท้าทั้งสองข้างไม่สมดุล จะทำให้เกิดการบิดหมุนของกระดูกเชิงกราน ซึ่งเป็นฐานของแนวกระดูกสันหลัง หากกระดูกเชิงกรานบิดเบี้ยวไป จะส่งผลโดยตรงต่อกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการ “บิด-คด” และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นกระดูกสันหลังเป็นทางออกของรากประสาทที่ไปคุมการทำงานของอวัยวะทุกส่วน รวมทั้งการเคลื่อนไหว การรับรู้ความรู้สึกต่างๆ เมื่อรากประสาทถูกรบกวน จะทำให้ร่างกายเกิดความเจ็บปวดจากระบบกระดูกกล้ามเนื้อที่ไม่สมดุล การไหลเวียนเลือด, น้ำเหลือง ถูกจำกัดลง ส่งผลให้การทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
จากความเคยการยืนพักขา เป็นท่ายืนที่ทำให้การลงน้ำหนักตัวถูกเทลงที่ขาด้านเดียว ทำให้ข้อเท้า ข้อเข่า และข้อสะโพกเสียสมดุล ส่งผลต่อไปยังกระดูกเชิงกราน ทำให้เกิดการบิดหมุนและเอียง ความไม่สมดุลเช่นนี้จะเกิดต่อไปที่แนวของกระดูกสันหลัง ทำให้เป็น “กระดูกสันหลังคด” ซึ่งจะเกิดการบิดตัวและเอียงของกระดูกสันหลัง มีผลกระทบต่อรากประสาทข้อต่อกระดูกสันหลัง ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมง่ายกว่าวัยอันควร กระดูกคอ-หลังเสื่อมทับเส้นประสาท เกิดความเจ็บปวดและอาจรุนแรงถึงพิการในที่สุด หากการกดทับของรากประสาทเส้นนั้น ๆ ถูกทับสนิททั้งเส้น
การยืนกอดอก
การใช้งานกล้ามเนื้อในชีวิตประจำวันของคนเรามักจะเป็นการใช้กล้ามเนื้อด้านหน้า เพราะการทำงานแต่ละอย่างล้วนต้องใช้แขนและก้มตัวไปด้านหน้า ทำให้มีการหดตัวของกล้ามเนื้อด้านหน้าอกมากกว่าปกติ แต่ในช่วงเวลาพัก กลับอยู่ในท่ากอดอกยิ่งส่งเสริมให้กล้ามเนื้อหน้าอกหดรั้งมากขึ้น ทำให้หลังและสะบักงุ้มมาด้านหน้า จนเกิดอาการ “กระดูกสันหลังค่อม” ซึ่งมีผลมากกับการขยายตัวของกล้ามเนื้ออก เพราะเมื่อหลังค่อม ปอดจะขยายได้น้อย ทำให้การหายใจติดขัดเหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย เพราะอากาศที่เข้าไปเลี้ยงเซลล์ในร่างกายน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้เซลล์ไม่แข็งแรงเมื่อมีสิ่งเข้ามากระทบ ร่างกายไม่สามารถต้านทาน ก็ทำให้เป็นโรคได้ในที่สุดหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ แม้เพียงขาดลมหายใจขณะเดียว
ยืนแอ่นพุง
การยืนทำให้เกิดผลเสียได้เกือบทั้งร่างกาย เพราะข้อต่อ ที่มีผลกระทบมากก็คือ ข้อเข่า เมื่อเรายืนแอ่นพุงกระดูกเชิงกราน จะคว่ำมาทางด้านหน้าส่งผลให้กล้ามเนื้อด้านหลังต้นขาถูกดึงให้ยาวออก กล้ามเนื้อมัดนี้เป็นมัดที่เชื่อมต่อไปยังเข่า เมื่อน้ำหนักกระแทกลงที่เข่า ทำให้ข้อเข่าต้องทำงานหนักจึงทำให้ปวดเข่า,เข่าเสื่อมเร็วกว่าวัยอันควร การยืนแอ่นพุงทำให้ ้กระดูกสันหลังช่วงล่างแอ่นมากกว่าปกติ เกิดแรงกดกระดูกสันหลังช่วงล่างหมอนรองกระดูกถูกอัดเข้าให้แคบลง ส่งผลให้มีอาการปวดเมื่อยหลังเรื้อรัง หากรุนแรง จะมีอาการปวดร้าวลงขา เวลาเดินมากมักมีอาการขาอ่อนแรงทำให้เดินต่อไม่ไหว เหมือนเข่าจะทรุด เนื่องจากหมอนรองกระดูกเสื่อมกดทับเส้นประสาทนั่นเอง
การใส่รองเท้าส้นสูง

ท่ายืนบนส้นสูง
ถือเป็นการทำให้โครงสร้างร่างกายเสื่อมหรือเสียสมดุลได้ เนื่องจากการใส่ส้นสูงเสมือนเขย่งเท้าตลอดเวลา กล้ามเนื้อน่องต้องทำงานหนัก เข่าเสื่อมง่าย เนื่องจากการใส่ส้นสูงทำให้เข่าแอ่น กระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมจากหลังที่ต้องอยู่ในท่าแอ่นตลอดเวลา
การยืนที่ถูกวิธีนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงต้องอาศัยการมีสติรู้ตัวโดยเริ่มจากการวางเท้าทั้งสองข้างให้ขนานกันความกว้างเท่าสะโพก ปลายเท้าชี้ไปด้านหน้า ยืนลงน้ำหนักให้เท่าๆกันทั้งสองข้าง แขม่วท้องเล็กน้อย ( เล็กน้อยเท่านั้น ) เพราะถ้าแขม่วท้องถูกต้องกล้ามเนื้อก้นซึ่งใช้ในการยืนและกล้ามเนื้อต้นขาจะหดตัวทำงานพร้อมกัน เพื่อไม่ให้เกิดแรงอัดที่ข้อต่อเข่าสะโพกและหลังช่วงบนของลำตัว ขณะยืนให้ดึงสะบักเข้าหากันเพียงเล็กน้อย เพื่อให้อกผายแขนวางสบาย ๆ ข้างลำตัวหรือจะไขว้หลังเพื่อจะได้คลายกล้ามเนื้อหน้าอกด้วย เพียงเท่านี้ก็ทำให้ท่านรักษาสมดุลของโครงสร้างร่างกายได้และยังทำให้บุคลิกดีด้วย แต่หากลองยืนถูกวิธีแล้วรู้สึกฝืนร่างกายมากไปรู้สึกอึดอัด นั่นเป็นสัญญาณเตือนที่จะบอกว่า ท่านเป็นคนหนึ่งที่โครงสร้างร่างกายเสียสมดุลแล้วก็ได้ อ. อิริยาบถ “ยืน” เป็นหนึ่งในอิริยาบถใหญ่ทั้งสี่ ที่หากเราไม่มีสติ รู้กายก็จะทำให้เผลอยืนในท่าที่ผิด กลายเป็นความเคยชินจนทำให้โครงสร้างร่างกายเสียสมดุล เป็นที่มาของความเจ็บปวด ที่มาของโรค ที่มาของความพิการ อย่างน้อยที่สุดการอยู่ในอิริยาบถยืนที่ถูกต้องก็เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสมดุลของโครงสร้างร่างกายและจิตใจไว้ได้เช่นเดียวกัน เพราะ “จิตใจที่แจ่มใส ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง”