ในอดีตอาการปวดต่างๆ ภายในร่างกาย ความผิดปกติของระบบกระดูกกล้ามเนื้อ มักเกิดจากอุบัติเหตุ การทำงานหนัก หรือความเสื่อมตามช่วงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
แต่ในปัจจุบันพบว่า สาเหตุหลักของความผิดปกติเกิดจากการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งเคลื่อนไหวซ้ำๆในท่าทางเดิมๆ อย่างต่อเนื่อง จึงส่งเสริมให้มีความผิดปกติของระบบกระดูกกล้ามเนื้อได้มากมาย “อิริยาบถนั่ง” เป็นหนึ่งในสี่ของอิริยาบถใหญ่ที่คนเราใช้มากเกือบทั้งวัน และมักนั่งในท่าที่ไม่ถูกต้อง ด้วยความเคยชินสะสมเป็นเวลานาน การทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายจะขาดความสมดุล กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นต้นเหตุของโรคและความเจ็บป่วยของคนในยุคปัจจุบันตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่
จากความเคยชินของแต่ละคนที่แตกต่างกัน จิตใจที่จดจ่ออยู่กับงานการไม่มีสติรู้กาย ก็ทำให้รูปแบบของอิริยาบถนั่งออกมาได้หลายรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้กล้ามเนื้อและข้อต่อทำงานหนักมากเกินไป ขอยกตัวอย่างท่านั่งที่เป็นท่าฮิตที่เคยชิน แต่ส่งผลต่อระบบกระดูกกล้ามเนื้อหรือโครงสร้างร่างกายของคนเราดังนี้

การนั่งไขว่ห้าง
1. การนั่งไขว่ห้าง เป็นท่าที่นิยมและเคยชินกันว่าดูบุคลิกดี แต่เป็นความเข้าใจผิดอย่างสูง เพราะตามปกติของการนั่ง ควรจะลงน้ำหนักที่ก้นทั้งสองข้างเท่าๆกัน จะทำให้การกระจายน้ำหนักของลำตัวสมดุล ข้อต่อและกล้ามเนื้อทำงานน้อยลง แต่การนั่งไขว่ห้าง น้ำหนักจะเกิดมากที่ก้นข้างใดข้างหนึ่ง มีผลต่อข้อต่อกล้ามเนื้อรอบสะโพก ยาวไปถึงศีรษะ ทำให้กระดูกสันหลังเกิดการบิดคด การทำงานของกล้ามเนื้อข้างกระดูกไม่สมดุล กล้ามเนื้อที่เกาะอยู่ระหว่างชายโครง ( Intercostal muscle ) เกร็งรั้งมากขึ้น สะสมนานเข้าทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังคด มีผลต่อเส้นประสาทที่อยู่ด้านข้างของกระดูกสันหลังทั้งแนว มีผลต่อการกระจายน้ำหนักที่หมอนรองกระดูก เสี่ยงต่อภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมและเคลื่อนทับเส้นประสาท การทำงานของอวัยวะภายในช่องอกถูกจำกัดลง เพราะกล้ามเนื้อที่เกาะระหว่างชายโครงทำงานผิดปกติ ทำให้หายใจไม่เต็มปอด ปอดขยายตัวได้น้อย หัวใจต้องบีบตัวแรงขึ้น ถี่ขึ้น เพื่อให้ได้อากาศมากที่สุด ประสิทธิภาพการทำงานของปอดและหัวใจลดลง กล้ามเนื้อในร่างกายแข็งเกร็งตลอดเวลา ง่วงหาวบ่อยๆ เนื่องจากร่างกายขาดอากาศมาเลี้ยงเซลล์ การไหลเวียนเลือดไม่ดี อัตราการเผาผลาญต่ำลง ทั้งหมดนี้อาจเป็นสาเหตุเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อการเป็นเส้นเลือดตีบ ตัน หรือแตก ทำให้เป็นอัมพาตได้ในที่สุด

ท่านั่งทำงาน
2. การนั่งทำคอมพิวเตอร์ นั่งขับรถ การทำงานของคนยุคปัจจุบันกว่า 90 % ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมง เวลานั่งมักไม่ใส่ใจกับท่านั่งของตัวเอง ส่วนใหญ่จะอยู่ในท่าหลังค่อม ไหล่งุ้มไปด้านหน้า คาง-คอยื่นไปด้านหน้า สะบักด้านหลังแยกห่างออกจากกัน มือใช้พิมพ์หรือคลิกเม้าท์อยู่ตลอดทั้งวัน ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ
การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ไม่สมดุล การนั่งในท่าไหล่งุ้ม หลังค่อม คางยื่นจะทำให้กระดูกข้อต่อและกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ ทำงานมากกว่าปกติหลายเท่า เป็นที่มาของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม กระดูกทับเส้นประสาท กล้ามเนื้อเป็นพังผืด เจ็บข้อศอก นิ้วล็อก พังผืดยึดทับเส้นประสาท มือไม่มีแรง ชามือฯลฯ
อีกทั้งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง ปวดศีรษะจากการเกร็งรั้งของกล้ามเนื้อ เมื่อร่างกายมีความเจ็บปวดก็มักจะหงุดหงิด ส่งเสริมให้ฮอร์โมนตัวร้ายในร่างกายถูกกระตุ้นมากขึ้น ก็ยิ่งเร้าให้กล้ามเนื้อ หลอดเลือดเกร็งตัวไปหมด ในที่สุดอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นความดันโลหิตสูง และเป็นที่มาของโรคที่ทุกคนกลัว นั่นคือ อัมพาต

ท่านั่งกึ่งนอน
3. ท่านั่งกึ่งนอน เป็นท่าที่ทำให้เกิดอันตรายได้ทั้งกระดูกคอและกระดูกสันหลัง เพราะหลังจะงองุ้ม คอจะดันพับเข้าหาตัว เป็นท่าที่ทำร้ายเนื้อเยื่อต่างๆ ที่อยู่รอบแนวกระดูกสันหลังอย่างมาก เป็นผลเสียได้ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เนื่องจากเป็นการยืดตลอดแนวของกระดูกสันหลัง ทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บอย่างรุนแรง ทั้งกระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มไขสันหลัง ซึ่งล้วนเป็นต้นเหตุของอาการต่างๆได้ทั้งร่างกาย
เราคือผู้ทำร้ายร่างกายเราเองจากอิริยาบถที่ผิดเพราะความเคยชิน จะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อร่างกายประท้วงเรียกร้องความสมดุลกลับคืน นั่นคือการแสดงอาการต่างๆให้รู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องหันกลับมาแก้ไขส่วนที่ร่างกายเสียสมดุลไป การมีโครงสร้างร่างกายที่สมดุล เป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ระบบภายในร่างกายทำงาน ได้เต็มประสิทธิภาพ เสมือนร่างกายมีภูมิต้านทานอย่างดีต่อโรคภัยไข้เจ็บ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่อยากเจ็บปวดทรมานกับการเป็นโรคร้าย ก็ควรเริ่มหันมาใส่ใจในอิริยาบถตั้งแต่วันนี้ โรคเกิดจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม