ปวดเมื่อยไม่หาย เสี่ยงภัยอัมพาต เสียงเตือนจากร่างกาย ที่ควรต้องระวัง ซึ่งจากสถานการณ์ต่างๆ ของปีนี้ หลายท่านคงประสบกับมรสุมหลายระลอกที่เป็นปัญหาคอยรบกวนจิตใจไม่น้อย ท่านคงเคยได้ยินคำโบราณที่ว่าไว้ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว เป็นคำกล่าวที่เป็นจริงที่สุดเลยใช่ไหมคะ
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จิตใจของคนเราอ่อนแอลง ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุที่มาจาก ปัญหาเรื่องธุรกิจการงาน ปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ปัญหาครอบครัว ปัญหาส่วนตัว ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก็มักส่งผลกับร่างกายด้วยเสมอ ที่เจอได้บ่อยๆ และเป็นคำบ่นติดปากนั่นก็คือ ปวดหัว ปวดกระบอกตา ปวดคอ ปวดบ่า ปวดสะบัก บางรายมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง ปวดเมื่อย ไปทั้งตัว ทั้งที่ร่างกายก็ไม่ได้ทำอะไรหักโหม ไม่ได้ทำงานแบกหามอะไรนัก
ปวดเมื่อย เสี่ยงอัมพาต
จากหลายเคสที่มาปรึกษาผู้เขียน พบว่ามีอาการปวดเรื้อรังมาเป็นสิบๆ ปี เมื่อวิเคราะห์จากลักษณะงานที่ทำ หลังซักประวัติแล้ว ก็ไม่พบว่ากิจวัตรใดจะเป็นต้นเหตุของอาการ แต่เมื่อได้พูดคุยจึงทราบว่ามีภาวะความเครียด ซึ่งส่งผลกับอาการปวดที่เป็นอยู่ค่อนข้างมาก หลายท่านปฏิเสธว่าตนไม่มีความเครียดเลย ทั้งที่ความเครียดนั้นสะสมมานานจนส่งผลต่อระบบภายในร่างกายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความสมดุลของระดับฮอร์โมน การทำงานของอวัยวะต่างๆ รวมไปถึงระบบโครงสร้างร่างกาย ซึ่งส่วนที่มีผลเกี่ยวข้องโดยตรงคือ กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ที่อยู่รอบคอและท้ายทอย กล้ามเนื้อส่วนนี้มีเส้นประสาทและหลอดเลือดที่สำคัญผ่านไปเลี้ยงสมอง ถ้ากล้ามเนื้อเหล่านี้มีการเกร็งไม่ยืดหยุ่น การไหลเวียนของเลือดก็จะถูกจำกัดลง เป็นผลให้มีอาการต่างๆ ซึ่งท่านเองก็อาจไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วสาเหตุมาจากความเครียดเรื้อรังนั่นเอง อาการที่พบได้บ่อยเช่น ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดคอ ปวดเมื่อยบ่า ปวดสะบัก ฯลฯ เป็นต้น
อาการปวดเมื่อยบ่อยๆ ต้องระวัง
อาการปวดเมื่อยส่วนใหญ่แล้วหากเป็นการเมื่อยธรรมดาๆ ร่างกายก็จะซ่อมแซมตัวเองได้ และจะดีขึ้นหลังได้รับการพักหรือหลังตื่นนอน แต่เมื่อใดก็ตามที่ท่านรู้สึกว่าอาการปวดทั้งหลายตามร่างกายนั้นเป็นเรื้อรังมากแล้ว รักษาหรือดูแลอย่างไรก็ไม่หายขาด สร้างความรำคาญให้กับตัวเองอยู่ทุกวี่วัน เป็นอุปสรรครบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันอยู่บ่อยๆ บางท่านอาจไม่แน่ใจว่าบ่อยคือเท่าไหร่ ผู้เขียนขอแนะนำว่าลองสังเกตตัวเองดูค่ะ ถ้าหนึ่งสัปดาห์อาการต่างๆ รบกวนการใช้ชีวิตคุณอย่างน้อย 3 วัน ถือว่าบ่อยค่ะ อาการเหล่านี้จะไม่เพียงทำให้หงุดหงิดค่ะ แต่จะส่งผลต่อร่างกาย และระบบต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ตราบที่ท่านยังใช้ร่างกาย ยืน เดิน นั่ง หรือแม้แต่นอน ในทุกๆ กิจวัตรใด เมื่อต้องเคลื่อนไหวก็ถือว่ากล้ามเนื้อ -ข้อต่อถูกใช้งานทุกครั้ง และจากการใช้งานนี่เองที่ทำให้อาการปวดเมื่อยธรรมดาเรื้อรังจนกลายเป็นผลร้ายกับร่างกายได้
ขอยกตัวอย่างบางอิริยาบถที่ส่งผลกับอาการปวดและส่งผลเสียต่อร่างกายให้ฟังสักหนึ่งตัวอย่างนะคะ การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องหลายชั่วโมง ท่านลองนึกถึงท่าทางของท่านนะคะว่าคอและคางจะยื่นไปด้านหน้า หลังและไหล่จะงุ้มค่อม หน้าอกด้านหน้าถูกกดอัดไว้ พุงยื่น กล้ามเนื้อก้นถูกนั่งกดทับทั้งวัน ข้อเข่า-ข้อสะโพก-ขาห้อยลงทั้งวัน ตอนนั่งทำงานท่านอาจไม่รู้สึกปวดเมื่อยใดๆ เพราะจิตใจจดจ่ออยู่กับงานและความคิด แต่เมื่อใดที่ท่านหยุดหรือเลิกงานท่านจะรู้สึกเมื่อยขึ้นมาทันที โดยปกติแล้วระบบการไหลเวียนของร่างกายไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือด เส้นประสาท หรือแม้แต่ระบบน้ำเหลือง ระบบเหล่านี้จะแทงผ่านเส้นใยกล้ามเนื้อทุกมัดในร่างกาย หากกล้ามเนื้อเราเกร็งค้างอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ยิ่งเป็นท่าที่ผิดก็จะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อเกร็งมากกว่าปกติ เช่น ท่าก้ม ไหล่งุ้ม ท่านี้กล้ามเนื้อด้านหน้าจะเกิดการหดสั้นมาก ด้านหลังก็จะถูกยืดยาวออก หากอยู่ในลักษณะนี้นานเข้าก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของแนวกระดูกสันหลังให้ค่อมลง กระดูกซี่โครงด้านหน้าถูกอัดงุ้มเข้า มีผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรบ้าง เรามาดูกันค่ะ
ปวดเมื่อยไม่หาย อัมพาต หากไม่ระวัง
ผลต่อการหายใจ จากปกติเวลาหายใจชายโครงด้านหน้าจะต้องขยายขึ้นและกางออกด้านข้าง เพื่อการขยายตัวของปอดด้านบน จึงจะได้อากาศเข้าไปในร่างกายเต็มที่ ร่างกายก็จะได้อ๊อกซิเจนจากการหายใจเพื่อไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ แต่หากร่างกายอยู่ในท่าที่ผิด เช่น งุ้ม งอ ค่อม ฯลฯ นอกจากจะทำให้ระบบกระดูกกล้ามเนื้อมีการเกร็ง จำกัดการไหลเวียนของเลือดและเส้นประสาทแล้ว ยังมีผลต่อการหายใจด้วย ผู้ที่มีหลังงุ้ม-หลังค่อม จะทำให้การหายใจไม่มีประสิทธิภาพพอ เนื่องจากเวลาหายใจเข้าจะเกิดการจำกัดการขยายตัวของปอด ทั้งที่หายใจเท่าเดิมแต่ได้อ๊อกซิเจนน้อยลง ในระยะยาวก็ทำให้ศักยภาพของร่างกายเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ และเร็วกว่าเวลาอันควร เสมือนร่างกายไม่มีภูมิต้านทาน ผลที่เกิดร่วมอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อมากกว่าปกติ หลอดเลือดก็เสมือนถูกบีบรัดอยู่ เมื่อหัวใจบีบตัวก็ต้องบีบตัว ด้วยแรงที่มากขึ้นเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ทั่วร่างกาย เป็นผลให้อวัยวะเหล่านี้ต้องทำงานหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น และส่วนใหญ่แล้วหากเป็นผู้มีอาการของระบบกระดูกกล้ามเนื้อที่ยืดหยุ่นไม่ดี ร่วมไปกับการไม่ดูแลเรื่องอาหารการกิน ก็ยิ่งทำให้อัตราการเผาผลาญในร่างกายลดน้อยลง (เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดที่ดีจะส่งเสริมให้อัตราการเผาผลาญดีขึ้นด้วย) มีการพอกพูนและสะสมของไขมันส่วนเกิน เสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรงอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคไขมันในหลอดเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือแม้แต่โรคหลอดเลือดตีบ ตัน จนถึงแตก ซึ่งก็เป็นปัจจัยทำให้เป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตได้ในที่สุด
เห็นไหมคะว่า ความเกี่ยวโยงของสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา อาจไม่ธรรมดาอย่างที่คิดเลยก็ได้ หากปล่อยปละละเลยจนเกินจะแก้ไข เพราะร่างกายของมนุษย์เราประกอบด้วยอวัยวะ และระบบต่างๆ ที่ทำงานร่วมกัน ประสานงานกันอย่างดีในทุกหน่วยเซลล์ จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ ดังที่ได้กล่าวเบื้องต้นแล้วค่ะ ระบบกระดูกกล้ามเนื้อ ที่ สถาบันอริยะ เรียกจนชินหูว่าระบบโครงสร้างร่างกาย นั้น ถือเป็นระบบพื้นฐานที่นำท่านไปสู่การมีสุขภาพแข็งแรงได้อย่างแท้จริง การดูแลของสถาบันฯ มิใช่ดูแลเพียงด้านเดียวหรือส่วนเดียว แต่เป็นการดูแลครอบคลุมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า จากภายในสู่ภายนอก ทั้งร่างกายและจิตใจ การออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดลึกเฉพาะมัด การทานอาหารที่ดี การล้างพิษ การได้รับอากาศดีและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ส่วนสำคัญที่สุดคือใจ เพราะ….. จิตใจที่แจ่มใส ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง ถ้าจิตใจแข็งแรง ร่างกายก็ดีเกินครึ่งแล้วค่ะ อย่าลืมสำรวจตัวเองนะคะว่ายังขาดส่วนไหนบ้างจะได้เติมเต็มให้สมบูรณ์ แล้วพบกันฉบับหน้าค่ะ
หากสนใจบริการของเรา สามารถคลิกได้ที่ ariyawellness.com/services/
ช่องทางติดต่อ Inbox ทางเพจ Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/ariyawellnesscenter