ระวังสุขภาพ ในการเดินทาง เผลอแปล๊บเดียวจะสิ้นปีอีกแล้วนะคะท่านผู้อ่าน เหมือนพึ่งจัดงานปีใหม่ไปไม่นาน แต่หลายท่านก็เตรียมตัวเตรียมใจต้อนรับปีใหม่อีกปีแล้ว และสิ่งหนึ่งที่ช่วงเทศกาลปีใหม่จะคึกคักเป็นพิเศษ นั่นคือการได้หยุดงานต่อเนื่องหลายวัน (สำหรับบางท่านที่ไม่ได้หยุดก็ถือซะว่ากรุงเทพฯช่วงนี้น่าอยู่ที่สุดค่ะ คนไม่มาก รถก็ไม่ติด)
หลายท่านก็คงมีโปรแกรมวางแผนจะเดินทางกันแล้วใช่ไหมล่ะคะ อาจต้องกลับต่างจังหวัด วางแผนไปเที่ยวไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ ต่างก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันไว้แล้วนะคะ แต่สิ่งหนึ่งที่หลายท่านมักลืมหรือมองข้ามไป นอกเหนือจากการเตรียมสัมภาระ หรือตั๋วสำหรับการเดินทางนั่นก็คือ “ร่างกายของตนเอง”

ภัยจากการเดินทาง
ระวังสุขภาพ ในการเดินทาง
หากท่านจดจำการเดินทางในแต่ละครั้งได้ไม่ว่าจะเป็นโดยเครื่องบิน เรือ รถไฟ รถทัวร์ รถส่วนตัว (ทั้งขับรถเองหรือมีคนขับรถให้) ไม่ว่าจะภายในประเทศหรือต่างประเทศ ฯลฯ ท่านจำได้ไหมคะว่าในการเดินทางแต่ละครั้งร่างกายท่านส่งเสียงใดบอกท่านหรือเปล่า? หากถามอาการทันที เพียงแค่นึกหลายท่านตอบได้ทันทีว่า เมื่อย อาการเมื่อยคือ อาการที่ไม่สบายเนื้อตัว รู้สึกฝืดๆ ตัวไปหมด ไม่คล่อง อาการนี้ถือเป็นธรรมดาที่ร่างกายส่งเสียงบอกเราว่าเพราะการเดินทางนั้น ซึ่งไม่เพียงแต่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวจึงทำให้เกิดอาการเมื่อย
แต่ที่มากกว่านั้นแล้วเราไม่รู้ตัว คือแรงกระชากในการเคลื่อนตัวของความเร็วของสิ่งที่เราโดยสารอยู่ ซึ่งเป็นแรงที่ร่างกายต้องเกร็งกล้ามเนื้อแนวกระดูกสันหลังชั้นลึกตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้สึกตัว ฯลฯ (ความรู้สึกตัวนี้จะเกิดขึ้นได้ถ้าเราเข้าใจโครงสร้างร่างกาย และออกกำลังกล้ามเนื้อ มัดลึกเป็น พร้อมการฝึกความรู้สึกตัว)
จากที่กล่าวมาหลายท่านพักสักวันอาการก็ดีขึ้น แต่หากท่านใดมีประสบการณ์จากการเดินทางที่ร่างกายรู้สึกย่ำแย่ ไม่เพียงแค่อาการเมื่อยธรรมดาอย่างที่กล่าว แต่เสียงของร่างกายที่บอกจากการเดินทางมันมีมากมายกว่านั้นมาก

ท่าทางการขับขี่ยานยนต์ที่ถูกต้อง
ระวังสุขภาพ ในการเดินทาง ปวดเมื่อยหลัง
ขอยกตัวอย่างอาการต่างๆ ที่เป็นเสียงเตือนของร่างกาย เพื่อเตือนภัย “จากการเดินทาง” ดังต่อไปนี้
- เวลาเดินทาง ในขณะที่นั่งอยู่นั้น ท่านจะรู้สึกเมื่อยหลัง และอาการเมื่อยนั้นค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความเจ็บปวด การขยับตัวช่วยได้เพียงเล็กน้อย รู้สึกถึงความปวดที่มากขึ้นเมื่อต้องทนนั่งต่อไปเรื่อยๆ (บางท่านใช้คำว่าปวดมากเหมือนหลังจะหลุดออกจากกัน)
- นอกจากอาการปวด อาจมีอาการซ่าๆ ชาๆ แสบ – ร้อนบริเวณบั้นเอว ตลอดเวลา
- รู้สึกปวดคอ ก้านคอ บ่า และสะบัก จนพาลทำให้ปวดหัว จึงต้องขยับคอไปมา ทำให้หงุดหงิดและนอนไม่หลับขณะเดินทาง
- ขาทั้งสองข้างบวม จากการนั่งห้อยขา และอาการที่บวมนั้นทำให้รู้สึกปวดตึงที่บริเวณน่องและใต้ข้อพับมาก อาจสังเกตเห็นเส้นเลือดโป่งออกมาชัดเจน
- จากอาการเมื่อยหลัง อาจรู้สึกว่าความปวดจะลามเป็นอาการชาร้าวมาที่ก้นกบ สะโพก และต้นขาด้านหลังทั้งสองข้าง
- มีอาการชามือ ปวดร้าวลงที่แขนและมือทั้งสองข้าง รู้สึกเหมือนกำมือไม่ลง มือไม่มีแรงในการหยิบจับของ หรือรู้สึกตึงๆ หนาๆ ที่ฝ่ามือทั้งสองข้าง ฯลฯ
หลังจากที่ท่านถึงจุดหมายปลายทางแล้วได้พักสักวัน แต่อาการต่างๆ ยังคงหลงเหลือรบกวนการใช้ชีวีตในวันหยุดของท่านอยู่ นั่นแปลว่า เป็นสัญญาณเตือนภัยจากร่างกายของท่านแล้ว และนอกจากอาการที่หลงเหลือดังกล่าว ยังอาจพ่วงเอาความเมื่อยล้าลึกๆที่ท่านรู้สึกได้ว่าร่างกายมันแน่นๆ อึดอัดอยู่ข้างใน ไม่กระฉับกระเฉง รู้สึกเพลียเกินปกติ หน้าตา และผิวหมองคล้ำไม่สดใส หาวบ่อยๆ ทั้งที่ได้นอนพอแล้ว รู้สึกได้ชัดเจนว่ากล้ามเนื้อและข้อต่อตามร่างกายของท่านมันแข็งเกร็งไปหมด

ปวดเอวจากการขับขี่เป็นระยะเวลานาน
อาการทั้งหมดเหล่านี้หากท่านเป็นคนหนึ่งที่เคยรู้สึก ท่านจะตอบตัวเองได้เลยว่า ทุกครั้งที่มีการเดินทางศักยภาพของร่างกายก็จะค่อยๆ ถดถอยลงเรื่อยๆ โดยที่ท่านไม่รู้สึกตัว เพราะมันคือการสะสมของเสียอันเกิดจากการใช้งานของกล้ามเนื้อในท่าเดิมๆ ต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง และในขณะเดียวกันก็เป็นท่าที่ร่างกายต้องเกร็งตัวเพื่อต้านกับแรงความเร่งตัวที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของเครื่องโดยสาร นอกจากกล้ามเนื้อแล้ว ข้อต่อต่างๆ ในร่างกายก็ได้รับแรงกระแทก จากเครื่องโดยสาร จากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ จากการอยู่ในท่าเดิมต่อเนื่องนาน หรือมิหนำซ้ำอาจเป็นท่าที่ผิด ทั้งท่าที่นั่งแบบเอนตัวกึ่งนั่งกึ่งนอน โดยไม่มีอุปกรณ์ช่วยพยุงหลัง ไม่มีหมอนที่เหมาะสมในการรองรับโค้งของคอ ท่านอนงอตัวอยู่บนเก้าอี้ ไม่สามารถเหยียดขาเพื่อให้เลือดได้ไหลเวียนบ้าง ฯลฯ เหล่านี้ต่างเป็นปัจจัยทำให้ข้อต่อได้รับแรงกระแทกมากกว่าปกติ จนเกิดการยึดรั้งภายในข้อต่อ โดยเฉพาะข้อต่อของกระดูกสันหลัง กระดูกต้นคอ ข้อสะโพก หรือแม้แต่ข้อเข่า นอกจากจะมีผลต่อกล้ามเนื้อและข้อต่อแล้ว สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งนั่นก็คือ การจำกัดการไหลเวียนของเลือดและเส้นประสาท ท่าต่างๆที่ได้กล่าวมามีผลทำให้กล้ามเนื้อยึด หรือเกร็ง ซึ่งมีผลมากต่อการไหลเวียนของเลือด เพราะเส้นเลือด เส้นประสาทแทงผ่านเส้นใยกล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อเกร็งก็ทำให้เลือดไม่ไหลเวียน ของเสียก็คั่งค้างอยู่กับที่จนเกิดอาการบวมและอาการปวดขึ้นมา และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายของท่านเมื่อยล้าไปทั้งระบบ เพราะร่างกายมีการไหลเวียนเลือดไม่ดีนั่นเอง
เมื่อได้ทราบดังนี้แล้ว การเดินทางที่ท่านวางแผนเอาไว้ สิ่งหนึ่งที่ต้องเตรียมเป็นอย่างดีก็คือ ร่างกายของท่านนี่เอง ฉบับนี้เราได้ทราบแล้วว่าการเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอะไรบ้าง แล้วอาการอย่างไรถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างที่เราคิด เราไม่ควรปล่อยไว้ เพราะนั่นหมายถึง ท่านกำลังเปิดช่องว่างให้ความเสื่อมถอยของร่างกายท่านมาเร็วกว่าที่ควรจะเป็น และนั่นอาจเป็นบันไดนำไปสู่ความเป็นโรคที่รุนแรงในวันข้างหน้าอันใกล้นี้ได้ การมีโครงสร้างร่างกายที่ดี ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของศักยภาพร่างกายที่พร้อมเผชิญทุกสิ่งที่เข้ามากระทบ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การใช้ชีวิตในทุกสภาพแวดล้อม เพียงแค่ท่านต้องเตรียมพร้อมในการป้องกันไว้ก่อน ไม่ใช่เกิดเหตุแล้วจึงมาแก้ไข
วันนี้ ท่านเคยตรวจโครงสร้างร่างกาย? และท่านรู้จักโครงสร้างร่างกาย ท่านหรือยัง?
ฉบับต่อไปเรามาทราบกันค่ะว่าการเตรียมร่างกาย ให้พร้อมสำหรับการเดินทาง ต้องเตรียมอย่างไรบ้าง และเมื่อท่านได้ประสบกับอาการต่างๆ เหมือนที่กล่าวมาท่านควรแก้ไขตนเองอย่างไร พบคำตอบได้ในฉบับหน้านะคะ แล้วพบกันค่ะ
หากสนใจบริการของเรา สามารถคลิกได้ที่ ariyawellness.com/services/
ช่องทางติดต่อ Inbox ทางเพจ Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/ariyawellnesscenter