ฉบับที่แล้วเราได้พูดถึงอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดร้าวขึ้นศีรษะเหมือนเป็นไมกรนมาแล้วนะคะ ฉบับนี้จะกล่าวถึงอาการคล้ายการปวดศีรษะ ซึ่งปัญหาของอาการนี้มักเชื่อมโยงกับอาการปวดคอ บ่าได้ค่ะ อาการดังกล่าวนี้บางท่านคาดไม่ถึงว่าจะมีความเชื่อมโยงหรือส่งผลได้นั่นคืออาการ ปวดขากรรไกร หรือในทางการแพทย์เรียกว่า Temporomandibular joint dysfunction นั่นเอง
เสียงใดบ้าง ที่ร่างกายกำลังบอกเล่าให้เราฟัง ขอยกตัวอย่างคร่าวๆ ดังนี้ค่ะ
- ตื่นมารู้สึกปวดขากรรไกร ปวดบริเวณกราม
- เมื่อยๆ ขากรรไกร บริเวณแก้ม หรือบริเวณด้านหน้ากกหู
- ไม่สบายหัว ปวดแบบตื้อๆ ชาๆ ตรงแก้ม – ขมับ
- มึนๆ ตึงๆ ทั้งศีรษะ แก้มและข้างๆใบหู
- อาจรู้สึกล้าๆ ตา หรือ หูอื้อๆ
- บางท่านรู้สึกเหมือนเมื่อยๆ หน้า ขยับหน้าเช่นยิ้มหรือหัวเราะก็จะรู้สึกตึงรั้งไปทั้งใบหน้า และศีรษะ
- แก้มด้านที่เป็นจะรู้สึกบวมๆ มากกว่าอีกด้าน ทั้งนี้อาจเป็นได้ทั้งสองด้าน
- เวลาอ้าปากกว้างๆ จะรู้สึกถูกจำกัด คืออ้าได้ไม่เต็มที่ หรือมีเสียง “กร๊อก” ตอนอ้าปากหรือหุบปากลง
- เวลาเคี้ยวรู้สึกเหมือนกรามไม่สบกัน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงหรือเรื้อรังของแต่ละท่าน ถ้าปล่อยไว้เรื้อรัง ก็จะมีอาการปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดบ่า ปวดสะบัก หรือมีอาการวิงเวียนร่วมด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนและที่เตือนได้ชัดเจนคือการนอนกัดฟัน ซึ่งเจ้าตัวอาจไม่รู้สึกตัวแต่คนที่อยู่ข้างๆจะบอกคุณได้ คุณอาจรู้สึกตัวตอนเช้า นั่นคือจะรู้สึกเจ็บๆ เมื่อยๆ บริเวณขากรรไกร กรามหรือขมับ โดยเฉพาะเวลาที่เคี้ยวอาหารหรืออ้าปากกว้างๆ เมื่อลุกขึ้นตอนเช้า และจะรู้สึกเจ็บเพิ่มขึ้นถ้าฟันไม่สบพอดีกัน
อาการดังกล่าวนี้อาจต้องแยกจากกลุ่มผู้ที่มีความบกพร่องของโครงสร้างของฟันและขากรรไกรด้วย ถ้าหากเกิดจากการเรียงตัวของเนื้อฟันที่มีรอยนูน การบดเคี้ยวหรือการสบฟันที่ไม่พอดี ก็อาจพบอาการที่คล้ายๆกัน แต่หากท่านไปพบทันตแพทย์แล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ ของโครงสร้างฟัน หรือการจัดการเกี่ยวกับฟัน ไม่สามารถแก้อาการของท่านได้ ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าอาการที่เป็นอาจเนื่องมาจากปัญหาของระบบโครงสร้างร่างกายของเรานั่นเอง
การบิดคดของกระดูกคอ ซึ่งมีความเชื่อมโยงไปถึงกระโหลกศีรษะและขากรรไกรนั้น ต้นเหตุที่แท้จริงมีได้จากหลายส่วน ตั้งแต่การบิดหรือโก่งของแนวเข่า การลงน้ำหนักเท้าที่ไม่เท่ากัน แล้วส่งผลถึงข้อสะโพก – หลัง ทำให้มีการบิดของคอ บางท่านอาจมีปัญหาที่กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อต่อของขากรรไกร กล้ามเนื้อที่เชื่อมโยงมาขากรรไกร หรือเชื่อมมากระโหลกศีรษะมีการตึงรั้ง ไม่สมดุลกัน จนไปดึงให้ข้อต่อขากรรไกรทำงานผิดปกติได้
เรามาดูกันว่าข้อต่อของขากรรไกรนั้นเชื่อมโยงกันอย่างไร? กับโครงสร้างร่างกาย
ข้อต่อของขากรรไกรประกอบด้วย กระดูกกรามหรือกระดูกขากรรไกร(Mandible) เชื่อมต่อกับกระดูกด้านข้างของกระโหลกศีรษะ(Temporal bone) ซึ่งสองชิ้นนี้มีความเชื่อมโยงต่อไปยังกระดูกคอ จึงทำให้ส่งผลต่อข้อต่อนี้ได้ ถ้าโครงสร้างร่างกายเกิดความไม่สมดุล
กล้ามเนื้อ มีกล้ามเนื้อหลายมัดที่เกาะโยงจากกระดูกทั้งสองชิ้นนี้ไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย เช่นเชื่อมไปถึงกระดูกไหปลาร้า แผ่ไปตามท้ายทอย หรือขมับ บางมัดเรียงตัวทอดตลอดแนวของข้อต่อขากรรไกร พาดผ่านไปที่กระโหลกศีรษะด้านข้าง หรือจากฐานกระโหลกศีรษะเชื่อมโยงไปที่กระดูกคอ เป็นต้น ตัวอย่างกล้ามเนื้อที่มีความเชื่อมโยงดังกล่าวเช่น Temporalis muscle Masseter muscle Suboccipital muscle Sternocleidomastoid muscle Platysma muscleฯลฯ ดังนั้นเมื่อเกิดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ จะส่งผลต่อการทำงานของขากรรไกรที่ไม่สมดุล ข้อต่อไม่อยู่ในแนวปกติ จึงเกิดอาการต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นได้
เป็นอย่างไรบ้างคะ เมื่อท่านได้อ่านและทำความเข้าใจกับอาการนี้แล้วก็จะทราบว่าร่างกายของเราช่างมหัศจรรย์ เพียงแค่มีความไม่สมดุลของส่วนใดส่วนหนึ่งก็ส่งผลได้ตลอดทั้งร่างกายและที่สำคัญเขาจะคอยส่งสัญญาณเตือนเราตลอดเพียงแต่ว่าท่านจะฟังเสียงนั้นหรือเปล่า นอกจากเรื่องของโครงสร้างร่างกายที่ส่งผลต่ออาการปวดขากรรไกรแล้ว ภาวะที่มีความเครียดก็ส่งผลมาก ทำให้กลางคืนอาจมีการขบกราม หรือกัดฟันจนทำให้เกิดความตึงตัวของข้อต่อและกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆขากรรไกรได้
ร่างกายกับจิตใจ เป็นสิ่งที่ต้องดูแลควบคู่กันไป เพราะฉะนั้นการดูแลตัวเองที่ดีที่สุดไม่ใช่บำรุงหรือดูแลแต่เพียงร่างกาย ต้องดูแลและบำรุงจิตใจด้วยค่ะ จึงจะได้ชื่อว่ามีความแข็งแรงสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจค่ะ พบกันฉบับหน้านะคะ สวัสดีค่ะ