ปวดกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายผิดท่า ต้องเข้าใจว่าสาเหตุของอาการปวดสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการออกกำลังกายแล้วใช้กล้ามเนื้อผิดท่า ซึ่งเป็นสาเหตุที่หลายคนมองข้ามไป แต่มันกลายส่งผลกระทบเรื้อรัง เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ วันนี้เรามารู้จักอาการดังกล่าวให้มากขึ้น
ปวดกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายผิดท่า คืออะไร
สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกินค่ะเหมือนพึ่งทักทายสวัสดีปีใหม่กันไปแป๊บเดียวผ่านมาเป็นเดือนซะแล้ว คราวที่แล้วผู้เขียนได้ยกเคสที่เกิด “ความเจ็บปวดกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายผิดท่า” ซึ่งในครั้งนี้ก็มีเคสที่ลักษณะคล้าย ๆ กันมาเล่าสู่ฟังค่ะ แต่เคสนี้เป็นเคสตัวอย่างที่ผู้เขียนเองก็คิดไม่ถึงว่าทั้งอาการ สาเหตุที่เป็นและผลตอบสนองต่อการรักษา ดูคาดไม่ถึงไปหมด อยากทราบกันแล้วใช่ไหมคะ
เคสนี้เป็นเคสที่ดูจากภายนอกแล้วแข็งแรงมากค่ะ เขาออกกำลังกายอยู่แบบหนึ่งซึ่งปัจจุบันเป็นที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมกันมาก ด้วยกระแสนิยมจึงทำให้อยากเล่นและเมื่อเล่นได้ก็รู้สึกว่าตนเองเก่ง ใช่ว่าการออกกำลังกายเช่นนี้ไม่ดีนะคะ แต่สำหรับผู้เขียนแล้วการออกกำลังชนิดนี้ทำให้ได้กล้ามเนื้อที่แข็งแรงมาจากข้างใน คือได้กล้ามเนื้อมัดลึกที่ให้ความมั่นคงกับกระดูกสันหลังได้ดีเลยทีเดียว
ปวดกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายผิดท่า อาการ
แล้วอาการเป็นยังไง??? ส่วนมากแล้วต้องเจาะไปที่ลักษณะของการออกกำลังกายก่อนว่า ใช้วิธีไหน
สำหรับการออกกำลังกายที่กล่าวถึงในเคสนี้ ก็คือการโหนตัวลอยจากพื้นโดยการใช้ผ้า (Yoga fly) และก็มีการยืดเหยียดร่างกาย รวมถึงการโหนลอยตัวไว้ แล้วเปลี่ยนท่าทางอยู่บนที่โหน ท่านผู้อ่านคงพอนึกออกนะคะ เคสนี้เล่นมาประมาณ 7 – 8 เดือนแล้วค่ะ จากการซักประวัติ เคสบอกว่าช่วงแรกๆที่เล่นนั้น ร่างกายก็เมื่อยๆ เป็นธรรมดา เล่นไปก็รู้สึกดี คือเล่นแล้วเหมือนได้ออกแรง ร่างกายก็สบายขึ้น แต่ 3 เดือนให้หลังนี้ เคสรู้สึกเมื่อยก้านคอมาก (เป็นอาการเตือนช่วงแรกของร่างกายที่แสดงออกมาให้เห็น) ต่อมาก็เริ่มมีอาการปวดเกร็งที่บ่าด้านขวา และอาการก็เพิ่มมากขึ้นคือรู้สึกซ่า ๆ ชาๆ ลงตามแขนด้านใน จนถึงนิ้วกลางและนิ้วก้อยมีความรู้สึกตึงๆ อยู่ตลอดเวลา 1 สัปดาห์ก่อนมาพบผู้เขียน โดยมีอาการชาร้าวลงที่แขนและมือ จนถึงมีอาการอ่อนแรง ก่อนมาพบผู้เขียนเพียง 2-3 วัน แต่เคสนี้ก็ยังคงออกกำลังกายแบบที่เล่นอยู่ หลังจากออกก็รู้สึกดี แต่ข้ามวันก็จะกลับเป็นขึ้นมาอีก
ช่วงที่อาการปวดตึงซ่าๆ เริ่มมากขึ้นบริเวณสะบักขวา เคสจึงไปพบแพทย์ ได้ยาแก้ปลายประสาทอักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อมาทาน แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น เคสได้ไปนวดรักษาที่สำนักแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมาก คนที่นวดให้แจ้งเคสว่ากระดูกคอเคลื่อน เคสกลัวจึงกลับไปพบแพทย์อีกครั้งและขอเอ็กซ์เรย์กระดูกคอ แต่ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ จนเคสได้รับคำแนะนำจากเพื่อนให้มาพบผู้เขียน ฟังจากอาการต่างๆ ผู้เขียนก็คาดว่าเขาน่าจะมีอาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนแล้วไปกดทับเส้นประสาทเพราะมีทั้งชา และอ่อนแรง แต่พอซักประวัติเพิ่ม เคสก็บอกว่า มันไม่ใช่อาการชา แบบตื้อๆ หรือไม่รู้สึก แต่มันเหมือนกับอาการเหน็บกินเป็นแนวตลอดด้านในของแขนจนถึงนิ้ว
แนวทางรักษา
แล้วแนวทางรักษา ควรทำยังไงดี
ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องทำการตรวจพิเศษทางระบบกระดูกกล้ามเนื้อ พบว่าเคสไม่ได้มีอาการจากหมอนรองกระดูกหรืออาการที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทเลย ผู้เขียนเองก็แปลกใจอยู่สักพัก แต่เมื่อวิเคราะห์ดูจากการตรวจร่างกายเคสมีกระดูกสันหลังคดช่วงบน สะบักด้านขวาบิดหมุนออกด้านนอกลำตัว และสะบักนูนขึ้นมามากกว่าอีกด้าน ตัวเอียงลงขวา และหัวไหล่ขวาบิดหมุนมาด้านหน้า เลยลองให้เคสออกแรงมัดกล้ามเนื้อเพื่อดึงสะบักที่ไม่ได้อยู่ในระดับที่ถูกต้องให้กลับเข้าที่ (Correct alignment) ปรากฏว่าเคสนี้มีอาการตึงๆ ซ่าๆ ร้าวลงที่แขน และที่สะบักก็มีอาการชัดขึ้นมาก
แต่พอผู้เขียนลองปรับท่าท่างของเคสด้วยการออกแรงช่วยพยุง ดันกระดูกสะบักกลับเข้าที่อาการของเคสก็หายไปเลยทันทีในทุกจุดที่เป็น จึงได้ทราบว่าเคสนี้มีปัญหาอะไร?
ปัญหาของเคสคือ เคสมีจุดกดเจ็บ มีความเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ให้ความมั่นคงของสะบักด้านนอก นั่นคือ Teres minor muscle และ Infraspinatus muscle กล้ามเนื้อสองมัดนี้ หน้าที่หลักคือให้ความมั่นคงแก่กระดูกสะบักและหัวไหล่ด้านนอก จากการซักประเพิ่มเติมที่เคสออกแรงในการโหนบนผ้านั้น ก็ได้ทราบว่า เคสพยายามโหนตัวขึ้นให้ได้ แต่การออกแรงของเคสไม่ได้ใช้มัดกล้ามเนื้อให้ถูกต้อง กล้ามเนื้อที่ใช้ออกแรงนั้นผิดมัดร่วมกับร่างกายของเคสที่ไม่สมดุลจากกระดูกสันหลังคด และกล้ามเนื้อมัดที่ต้องพยุงให้หัวไหล่มั่นคงก็ไม่แข็งแรงพอต่อการใช้กำลังแขนโหนตัวให้ลอยขึ้น จึงมีผลทำให้เคสเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นมา กลุ่มอาการนี้เป็นกลุ่มที่เรียกว่า Myofascial pain syndrome เป็นอาการของเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ซึ่งจะมีอาการปวดร้าวได้ (Refer pain ) แต่ละมัดกล้ามเนื้อก็มักมีรูปแบบในการปวดร้าวที่แตกต่างกันออกไปค่ะ
เคสนี้ พบว่าหลักจากการรักษาครั้งแรกก็หายสนิท ไม่เหลืออาการที่จุดไหนเลย ทั้งที่ ก้านคอ สะบัก แขนและนิ้ว แต่อย่างที่เคยทราบนั่นแหละค่ะ การทำให้อาการหายไปเลยอาจเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ทำอย่างไรไม่ให้อาการกลับมานั่นแหละยากค่ะ
ดังนั้นในภาพรวมแล้ว เคสต้องกลับมาเพื่อเรียนรู้ร่างกายตนเอง รู้จักการใช้กล้ามเนื้อและปรับให้ร่างกายสมดุลแข็งแรงพอต่อการออกกำลังกายแบบที่ตนอยากจะเล่น ซึ่งการออกกำลังกายถ้าจะให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายนั้น เคสต้องออกแรงกล้ามเนื้อให้ถูกมัด จัดระเบียบร่างกายทุกขณะในการเคลื่อนไหว ตรงนี้แหละที่จะทำให้ เคสหายได้อย่างถาวรค่ะ
เรื่องที่คาดไม่ถึงของเคสนี้ เป็นกรณีศึกษาของอีกหลายเคสค่ะ เพราะการออกกำลังกายแบบต่างๆ ในบ้านเรากำลังเป็นที่นิยม แต่อย่าลืมนะคะ ที่ผู้เขียนเคยบอกไว้ การออกกำลังกายทุกอย่างดีหมด แต่ต้องอยู่ภายใต้การเล่นให้ถูกมัดกล้ามเนื้อและใช้ให้เป็น ที่สำคัญร่างกายต้องพร้อมที่จะเล่น จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างแท้จริง และไม่เกิดผลเสียต่อร่างกายค่ะ
เนื้อหานี้อาจจะตอบคำถามหลายๆ ท่านที่ชอบออกกำลังกาย แต่ยังคงมีปัญหาและอาการปวดต่างๆ อยู่ อย่าละเลยเสียงเตือนของร่างกายนะคะ เพราะนั่นเป็นสัญญาณเล็กๆ ที่สำคัญที่อาจเป็นอันตรายร้ายแรงให้กับร่างกายคุณได้ในอนาคตค่ะ
หากสนใจบริการของเรา สามารถคลิกได้ที่ ariyawellness.com/services/
ช่องทางติดต่อ Inbox ทางเพจ Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/ariyawellnesscenter
ข้อมูลประกอบ https://health.clevelandclinic.org/