ปวดเข่า เสียวในหัวเข่า สาเหตุเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร ต้องระวังก่อนที่อาการจะเรื้อรังจนสายเกินไป
สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน รอบนี้เรามีเรื่องเล่าจากอาการของคนไข้หลายท่านที่มาด้วยความกังวลจากอาการปวดเข่า ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเมื่อปวดเข่าก็คือเข่าเสื่อมทั้งหมด แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้นค่ะ อาการปวดเข่าไม่จำเป็นต้องเป็นเข่าเสื่อมเสมอไปและไม่ได้เกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น ในวัยกลางคนหรือนักกีฬาและผู้ที่บาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ก็อาจเกิดอาการปวดเข่าได้เช่นกัน โดยจุดเริ่มต้นของอาการอาจเริ่มจากปวดหลัง ปวดก้น และลุกลามจนทำให้เกิดอาการปวดเสียวที่เข่า อาการปวดเข่าเช่นนี้ เกิดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือกล้ามเนื้อสะโพกทำงานไม่สมดุล ดังนั้นเราจึงควรมาทำความรู้จักอาการปวดเข่าในแบบต่างๆ ว่ามีอาการแตกต่างกันอย่างไร เพื่อจะได้หาทางแก้ไขให้ถูกต้นตอของปัญหา จึงขออธิบายอาการปวดเข่า เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นค่ะ
อาการปวดเข่า
หลายท่านมักเข้าใจว่าเมื่อมีอาการปวดเข่าก็เหมารวมว่าเป็นเข่าเสื่อมทั้งหมด แต่แท้จริงแล้วอาการปวดเข่าจากภาวะที่กล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุลกันก็มี เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อตึงตัวมากเกินไป ลักษณะของอาการปวดแต่ละแบบนั้น มีความแตกต่างกันอยู่ดังนี้นะคะ เข่าเสื่อม อาการเข่าเสื่อมมักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มีหน้าท้องยื่น ใช้งานเข่าหนัก เช่นเดินมากมาก่อน ใส่ส้นสูงมาก่อน เข่าเคยกระแทกหรือมีอุบัติที่เข่ามาก่อน ฯลฯ
ลักษณะอาการที่แสดงว่าเป็นโรคเข่าเสื่อมได้อย่างชัดเจน
มาลองดูกันว่ามีลักษณะอาการแบบใดที่แสดงว่าเราอาจเป็นโรคเข่าเสื่อมอย่างชัดเจนกันบ้าง ที่พบบ่อย ได้แก่
- มีอาการปวดเข่า โดยปกติจะปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหว หรือมีการเดินลงน้ำหนัก แต่เมื่อพักจะดีขึ้น หากเป็นมากจะปวดตลอดเวลา
- ข้อติดแข็ง ส่วนมากจะพบในตอนเช้าเมื่อตื่นนอนใหม่ๆ หรือเมื่ออยู่ในท่าทางใดท่าทางหนึ่งนานๆ ต่อเนื่องโดยไม่ได้ขยับ
- มีการบวมรอบข้อเข่า อาจพบร่วมกับอาการแดงและร้อนเมื่อลองคลำบริเวณรอบเข่า
- มีการผิดรูปของข้อเข่า ซึ่งเกิดจากผิวข้อ (Cartilage) บางลง แล้วตัวของกระดูกมีการเสียดสีกัน จนเกิดกระดูกงอกทำให้เข่าผิดรูปและขยาย จึงพบว่าผู้ที่มีเข่าเสื่อมรุนแรงรอบข้อเข่าจะใหญ่ขึ้น
- พบว่ามีเสียงดังภายในข้อเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหว ซึ่งเสียงที่เกิดขึ้นอาจมาจากการเสียดสีของผิวข้อภายในข้อเข่า ท่านใดมีลักษณะอาการเพียง 3 ใน 5 ข้อ ก็จัดได้ว่าแนวโน้มอาการปวดเข่านั้น เป็นจากข้อเข่าเสื่อมค่ะ
ปัญหากล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุลกัน
มี 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ กลุ่มที่ใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป มักจะเกิดขึ้นกับนักกีฬาบางประเภทที่ต้องใช้เข่ารับน้ำหนักหรือการเคลื่อนไหวเข่างอ-เหยียดซ้ำๆ ทำให้ผิวข้อเข่าและเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อมีการเสียดสี เช่น นักวิ่ง นักปั่นจักรยาน นักบาสเกตบอล นักฟุตบอล นักกอล์ฟ ฯลฯ กลุ่มที่ขาดการออกกำลังกาย มักเกิดจากการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ต่อเนื่องหลายชั่วโมงโดยไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่าทาง เช่น คนที่นั่งทำงานตลอดเวลาต่อเนื่อง (จะทำให้กล้ามเนื้อก้นหรือสะโพกอ่อนแรง) หรือกลุ่มที่ยืนทำงานต่อเนื่องนานๆ และหากอยู่ในอิริยาบถที่ผิด ก็มักทำให้เกิดอาการปวดได้ง่าย
สำหรับอาการปวดมักจะเป็นการปวดเข่าแบบเสียวแปล๊บๆ ทั้งด้านนอกหรือด้านในของข้อ ซึ่งในบางเคสพบว่ามีอาการปวดที่ด้านหลังของต้นขา หรือไม่ก็ด้านหน้าเข่าใต้ลูกสะบ้า ไม่ได้ปวดลึกๆลงไปในข้อเข่า บางเคสอาการปวดจะปวดแบบล้าๆ เมื่อยๆไปทั้งขา มักเกิดร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อก้น ปวดข้อเท้าหรือน่อง อาการปวดมักร่วมกับอาการตึงร้าว หรือเสียวๆ จากต้นขาหรือข้อสะโพก อาการปวดจะชัดเจนหลังเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เคสที่รุนแรงจะเป็นขณะกำลังเล่นกีฬา แต่เคสที่ไม่รุนแรงจะมีอาการหลังจากเล่นฯหรืออาจปวดในวันถัดมาก็เป็นได้ เพราะขณะที่เล่นฯ ร่างกายจะหลั่งสารสุขจึงทำให้เราไม่รู้สึกปวด หรือเกิดเมื่อนั่งต่อเนื่องหรือยืนต่อเนื่องนานๆ หากเกิดจากท่านั่งหรือยืนนาน เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถอาการจะดีขึ้น
ตอนนี้เราได้ทราบกันแล้วว่าอาการปวดเข่าไม่ได้เกิดจากเข่าเสื่อมอย่างเดียวอย่างที่คิดใช่ไหมคะ แต่ที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใดหากรักษาไม่ถูกต้องถูกทางก็ทำให้เข่าเสื่อมได้เร็วกว่าวัยอันควรค่ะ แต่หากดูแลดีและดูแลถูกก็ไม่จำเป็นต้องเสื่อมนะคะ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเริ่มมีอาการเตือนจากร่างกาย เราควรพิจารณาหาสาเหตุที่แท้จริง แล้วแก้ไขให้ถูกทางจึงจะทำให้อาการหายขาดได้ค่ะ บางเคสกลัวว่าจะต้องเลิกเล่นกีฬาที่ตนชอบ หรือกลัวไม่ได้ออกกำลังกาย แท้จริงแล้วหากเรารู้วิธีการเราจะสามารถเล่นทุกอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาการปวดเข่าไม่ว่าจะเป็นเข่าเสื่อมหรือกล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุล สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด สาเหตุมาจากอะไรก็รักษาและแก้ไขที่ต้นเหตุ เท่านี้เราก็จะหมดปัญหารบกวนใจจากอาการปวดเข่าค่ะ
หากสนใจบริการของเรา สามารถคลิกได้ที่ ariyawellness.com/services/
ช่องทางติดต่อ Inbox ทางเพจ Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/ariyawellnesscenter