ปวดหลังจากแนวกระดูกสันหลังขาดความมั่นคง คืออะไร วันนี้เรามาทำความรู้จักอาการนี้กันค่ะ เพราะมันเป็นภัยร้ายแรงอย่างคาดไม่ถึงที่อาจส่งผลเรื้อรังต่อร่างกายได้
สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน สำหรับท่านที่ติดตามกันมาตลอดก็คงพอเข้าใจเกี่ยวกับอาการปวดหลังที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อท่านมีอาการปวดหลังขึ้นมาเมื่อไหร่ ท่านจะเป็นหมอที่ดีสุดที่สามารถบอกตัวเองได้ว่าอาการปวดหลังของท่านนั้น เกิดจากเนื้อเยื่อส่วนใดของหลัง สามารถบอกปัญหาที่แท้จริงของอาการปวดนั้นๆได้ และที่สำคัญคือต้องสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วย
แนวกระดูกสันหลังขาดความมั่นคง คืออะไร
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักอาการปวดของหลังอันเนื่องมาจาก “แนวกระดูกสันหลังขาดความมั่นคง” ( Lumbar Instability)
ฟังดูแล้ว หลายท่านที่เป็นคนร่างกายกำยำ ดูแข็งแรง ต้องคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นแน่ๆ เพราะคาดคะเนจากสภาพร่างกายตนเอง แต่ลองฟังต่อไปก่อนนะคะ เมื่อพูดถึงการขาดความมั่นคงแล้ว แท้ที่จริงร่างกายคนเราไม่ได้มั่นคงจากกายภายนอกว่าดูกำยำล่ำสัน แต่เราดูลึกลงไปถึงแนวกระดูกที่มีเนื้อเยื่อต่างๆ เสริมให้มั่นคงอยู่ชั้นในสุด นึกถึงต้นไม้ใหญ่บางชนิดที่แผ่กิ่งก้านมากมายดูเหมือนมั่นคงแข็งแรง แต่เพียงโดนลมกรรโชกพัดมากลับโค่นได้อย่างง่ายดาย นั่นเป็นเพราะรากที่หยั่งทรงให้ต้นไม้นั้นไม่มั่นคงแข็งแรงพอ จึงโค่นล้มลงมาอย่างคาดไม่ถึง ทั้งที่ดูภายนอกเหมือนมั่นคง ตรงกันข้ามกับต้นไม้บางชนิดที่สูงตระง่าน ลำต้นดูเล็กบาง น่าจะโดนลมพัดโค่นได้ง่ายๆ แต่กลับแข็งแกร่ง ไม่สะทกสะท้านต่อแรงลม นั่นเป็นเพราะรากลึกภายในของต้นไม้ชนิดนั้นหยั่งลงด้วยความแข็งแรงมั่นคงนั่นเอง ร่างกายคนเราก็ไม่ต่างกันค่ะ ความมั่นคงแข็งแรงที่พูดถึงเราไม่ได้ดูกันจากภายนอกว่ากล้ามใหญ่ มัดสวยงาม แต่วัดกันที่ความมั่นคงแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อส่วนลึกที่ติดกับชั้นกระดูกสันหลัง เป็นตัวสำคัญที่ทรงให้กระดูกเรามั่นคงแข็งแรง ซึ่งหากจะแยกย่อยว่า ตัวที่สร้างรากฐานให้แนวกระดูกสันหลังของคนเรามั่นคงมีอยู่ 3 ระบบด้วยกันคือ
1. The passive subsystem อันประกอบด้วย ตัวกระดูกสันหลัง ข้อต่อกระดูกสันหลังแต่ละระดับ เส้นเอ็น แคปซูลข้อต่อ ฯลฯ
2. The neural feedback system คือแรงและแรงกระทำต่อข้อต่อระดับนั้นๆ รวมไปถึง ระบบประสาทที่เป็นศูนย์ควบคุมแรงนั้นๆ
3. The muscle system ประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่อยู่โดยรอบของกระดูกสันหลังเพื่อประกบให้หลังมั่นคง
การทำงานของทั้ง 3 ระบบในร่างกายส่วนนี้จะเป็นกลไกที่ทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยทรงให้กระดูกเรามั่นคง สำหรับใน ข้อ 1 และ 2 เราไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ แต่สำหรับข้อ 3 คือระบบกล้ามเนื้อนั้นเป็นกุญแจสำคัญที่เราจะสามารถสร้างให้แข็งแรงและมั่นคงได้ โดยในทางกายวิภาคศาสตร์เราเรียกกล้ามเนื้อที่ให้ความมั่นคงเหล่านี้ว่า Core Stability Muscles คือกล้ามเนื้อมัดลึก ซึ่งมี 3 ส่วนที่สำคัญคือ กล้ามเนื้อหน้าท้องมัดลึก (Transversus Abdominis) กล้ามเนื้อหลังมัดลึก (Multifidus) กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (pelvic floor) เมื่อพูดถึงความมั่นคงแข็งแรงเราก็วัดกันที่กล้ามเนื้อ 3 กลุ่มนี้นี่เองล่ะค่ะ
แนวกระดูกสันหลังขาดความมั่นคง อาการ
แล้วสงสัยไหมคะว่า อาการปวดหลังจากความไม่มั่นคงของหลังนั้น มีอาการเด่นๆเป็นอย่างไรบ้าง มีดังนี้เลยค่ะ
1.อาการปวดหลังที่เกิดจากหลังไม่มั่นคงนี้ จะไม่รุนแรงหรือปวดตลอดเวลาแต่จะสร้างความรำคาญใจให้ผู้ที่เป็นอยู่เรื่อยๆ เมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่าทาง ซึ่งความถี่ในการเป็นจะถี่ขึ้น และจะเจ็บแปล๊บแรงมากขึ้นหากไม่รักษาให้ตรงจุด หน้าที่หลักของส่วนที่ทำหน้าที่ให้ความมั่นคงกับหลังนี้เป็นตัวอุ้ม หรือพยุงหลังไว้ทั้งในยามเคลื่อนไหว และในยามที่ลำตัวนิ่งตรง ป้องกันไขสันหลัง และเส้นประสาท ไม่ให้โดนกดเบียด หากส่วนนี้ขาดความมั่นคง
ซึ่งอาการปวดแปล๊บๆ เมื่อเปลี่ยนท่าทางนี่ล่ะค่ะเป็นตัวเตือนให้ทราบว่าเราควรจะต้องจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะหากไม่ดูแลรักษา จากปวดแปล๊บธรรมดา อาจทำให้รุนแรงถึงขั้นเดินไม่ได้ก็เป็นได้ค่ะ
2.ปวดหรือปวดแปล๊บที่หลังเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทางค่ะ ไม่ว่าจะจากท่านั่ง แล้วดันตัวขึ้นเพื่อยืน หรือจากท่านอนแล้วพลิกตัวเพื่อจะนั่งจะมีอาการปวดแปล๊บขึ้นมาทันที สร้างความรำคาญให้อยู่บ่อยๆค่ะ ไม่ว่าจะเอี้ยวตัว ก้มตัว หรือแอ่นตัวในการหยิบจับของ ยกของ หรือจังหวะที่หันหรือบิดตัว ก็จะเจ็บแปล๊บที่หลังจนต้องสะดุ้ง
ถึงตอนนี้ หากท่านผู้อ่านท่านใดมีอาการดังที่กล่าวมา ก็น่าจะตอบโจทย์ตัวเองได้แล้วนะคะ กลุ่มนี้รักษาง่ายมากค่ะ เพราะร่างกายเรามีกล้ามเนื้อที่สร้างให้แข็งแรงได้ เพียงแต่ต้องรู้จักและสร้างให้ถูกมัดกล้ามเนื้อ เพียงเท่านี้ก็หายขาดแล้วค่ะนอกจากหายขาดแล้วยังได้พบความแข็งแรงและใช้งานร่างกายได้เต็มศักยภาพ ดังนั้นเมื่อเริ่มมีเสียงเตือนจากร่างกายก็ควรรีบจัดการนะคะ อย่าปล่อยให้เรื้อรังจนเดินเหินไม่ได้ ใช้ร่างกายไม่ได้ ตอนนั้นอาจยากในการฟื้นฟูให้กลับเป็นปกติ แล้วพบกันฉบับหน้าค่ะ สวัสดีค่ะ
หากสนใจบริการของเรา สามารถคลิกได้ที่ ariyawellness.com/services/
ช่องทางติดต่อ Inbox ทางเพจ Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/ariyawellnesscenter