กระดูกสันหลังคด คือความผิดปกติ หรือการผิดรูปของกระดูกสันหลัง ซึ่งปกติหากมองจากด้านหลังกระดูกสันหลังเราจะเป็นเส้นตรง หากมีการคด กระดูกสันหลังจะโค้งเป็นรูปตัว C หรือบางเคสอาจเป็นรูปตัว S ซึ่งแบ่งออกได้สองแบบคือ
- กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด ( Congenital Scoliosis) การคดเช่นนี้มักเป็นมาตั้งแต่เกิด และส่งผลให้พัฒนาการทางร่างกายมีความผิดปกติร่วมด้วย จะแก้ไขให้กระดูกอยู่ในแนวที่ถูกต้อง 100% ไม่ได้ แต่สามารถปรับให้ดีขึ้นได้ระดับหนึ่ง ตามสภาพความรุนแรงของอาการ สามารถชะลอความเสื่อมที่เกิดจากการคด ไม่ให้รุนแรงและรวดเร็วเกินไป การคดแบบนี้มีผลต่อการทำงานของปอดค่อนข้างมาก อาการมักรุนแรง และจำกัดการขยายตัวของปอด มีผลทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมก่อนวัยอันควร
- กระดูกสันหลังคดจากท่าทางที่ผิด (Functional Scoliosis) การคดแบบนี้เกิดจากท่าทางผิดปกติ ที่เกิดขึ้นซ้ำทุกวัน วันละหลายๆชั่วโมงและต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ท่าทางเหล่านี้เป็นการทำงานของร่างกายที่ไม่สมดุล การอยู่ในท่าทางที่ผิด ซึ่งท่าทางที่เป็นสาเหตุของกระดูกสันหลังคดมีดังต่อไปนี้
- การนั่งไขว้ห้าง
- การนั่งท้าวแขน หรือนั่งท้าวคาง
- นั่งลงน้ำหนักที่ก้นด้านเดียว
- นั่งพิงหรือยืนพิงผนังด้านใดด้านหนึ่งเป็นประจำ
- สะพายกระเป๋าด้านเดียวหรือหิ้วกระเป๋าด้วยความเคยชินด้านเดียว
- ยืนพักขา
- การวางจอคอมพิวเตอร์เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
- การนอนตะแคงทับหัวไหล่ด้านใดด้านหนึ่งเป็นประจำ ฯลฯ
อุปนิสัยเช่นนี้เมื่อท่านเคยชินก็จะทำโดยไม่รู้ตัวและสะสมให้เกิดกระดูกสันหลังคดในที่สุด
แนวกระดูกสันหลังที่คดและบิดไปจะมีผลโดยตรงต่ออวัยวะต่าง ๆภายในร่างกาย โดยเฉพาะปอดและหัวใจ เพราะปอดจะต้องได้รับอากาศจากการหายใจเข้า ซึ่งต้องอาศัยการขยับตัวของชายโครงให้กางออก ปอดจึงสามารถขยายตัวได้เต็มที่ แต่หากการขยายตัวนี้ถูกจำกัดจากอาการหลังคด ทำให้ชายโครงกางออกไม่ได้ แน่นอนว่าปอดย่อมได้รับอากาศเข้าไปน้อย บางท่านอาจคิดว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลต่อร่างกาย แต่ในระยะยาวร่างกายจะสะสมความติดขัดจากการหายใจไปเรื่อยๆ พอกพูนจนหายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย ภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อระบบอื่นๆ ทั้งระบบโครงสร้างร่างกาย ข้อต่อกระดูกสันหลังยึดติด/ขาดความยืดหยุ่น กล้ามเนื้อติด/แข็งเป็นพังผืด การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก การขับของเสียด้อยประสิทธิภาพ และยังเป็นที่มาของอาการปวดต่างๆ ทำให้เป็นโรคความเสื่อมก่อนวัย นอกจากนี้ยังรบกวนไปถึงการนอนที่ทำให้ไม่ผ่อนคลาย ร่างกายจึงทำการซ่อมแซมได้น้อย ส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานลดลง ร่างกายไม่แข็งแรง เจ็บป่วยง่ายแต่หายยาก ท่านเห็นไหมคะ? สัญญาณเตือนของร่างกายเรานั้นวิเศษมากเพียงใด เพียงการเตือนเล็กๆ น้อยๆ ของร่างกายที่บอกเราก่อนตั้งแต่เริ่มต้นมีความผิดปกตินั้นสำคัญที่สุดและง่ายต่อการดูแล-แก้ไข แต่เรากลับไม่สนใจ ปล่อยไว้จนเป็นปัญหาใหญ่ ท่านจะเลือกดูแลตัวเองก่อน เพื่อสร้างความต้านทานให้ร่างกาย หรือจะรอให้เป็นโรคแล้วค่อยรักษา เพราะหากจัดว่าเป็นโรคแล้ว ยากเหลือเกินที่จะทำให้ร่างกายกลับมามีประสิทธิภาพได้เหมือนเดิม
แต่ถ้าหากเป็นแล้วเราจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ขั้นแรกเมื่อทราบว่ากระดูกสันหลังคด จากการสังเกตตัวเองเบื้องต้น หรือจากอาการปวดเรื้อรังที่เป็นอยู่ บางท่านอาจตัดสินใจออกกำลังกายด้วยตัวเอง แต่การออกกำลังกาย หากยังไม่รู้จักการใช้มัดกล้ามเนื้อให้ถูกต้อง ไม่ควรออกกำลังกายด้วยตัวเอง เนื่องจากว่าเมื่อเกิดการคดของกระดูกสันหลังแล้ว จะมีการบิดตัวของกระดูกสันหลังร่วมด้วย กล้ามเนื้อทั้งสองฝั่งซ้าย-ขวา / หน้า-หลัง ฝั่งหนึ่งจะหดสั้น อีกฝั่งหนึ่งจะยืดยาวออก การออกกำลังกายด้วยตัวเอง อาจทำให้กระดูกบิดมากขึ้นได้ เนื่องจากข้อต่อของกระดูกสันหลัง แต่ละข้อประกอบด้วยกล้ามเนื้อมัดลึก เส้นเอ็นรอบๆ ข้อหรือตัวข้อต่อต่างๆ อาจไม่มีความยืดหยุ่นพอที่จะปรับตัวเองไปตามการออกกำลังกาย อาจส่งผลให้มีการทดแทนของแนวกระดูก ทำให้คดและบิดมากขึ้นได้ ควรได้รับการตรวจโครงสร้างร่างกาย และได้รับคำแนะนำในการออกกำลังกายที่ถูกต้องเสียก่อน แนวทางรักษาในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้ 2 แบบหลักๆ ดังนี้คือ
- การรักษาด้วยการผ่าตัดกรณีนี้แพทย์จะทำการตรวจด้วยภาพถ่ายรังสี และจะรักษาด้วยการผ่าตัด เมื่อตรวจพบว่ากระดูกสันหลังคดมากถึง 45 องศา แต่ถ้ายังไม่มีการคดมาก แพทย์จะนัดตรวจทุกๆ4-6 เดือน เมื่อองศามากถึง 45 องศา แพทย์จะตัดสินใจรักษาด้วยการผ่าตัด
- การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดแบ่งออกได้เป็น
- การใส่เฝือกพยุง (Brace) วิธีนี้จะประสบผลสำเร็จในการรักษาต้องใส่เฝือกอย่างน้อยถึง 23 ชั่วโมงต่อวัน ต่อเนื่องเป็นเดือนหรือมากกว่า ขึ้นกับสภาพร่างกายของผู้ที่เป็น วิธีนี้จะทำให้เจ็บมาก เนื่องจากเฝือกแข็งจะกดทับผิวหรือบริเวณที่เป็นปุ่มกระดูก และอาจทำให้เป็นแผล การรักษาวิธีนี้มักไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะผู้ที่มีกระดูกสันหลังคดจะเจ็บ และไม่ยอมใส่เฝือกต่อเนื่อง
- การปรับโครงสร้างร่างกาย เป็นแนวทางธรรมชาติบำบัด ของผู้ที่ต้องการปรับแนวกระดูก ด้วยการใช้ศักยภาพของระบบกระดูกกล้ามเนื้อ ตามหลักทางกายวิภาคศาสตร์ที่ว่า กระดูกจะอยู่ในแนวตรง หรือในแนวความโค้งปกติได้นั้น ต้องถูกพยุงไว้ด้วย “กล้ามเนื้อ” และกล้ามเนื้อที่มีผลต่อความคดของหลังนั้น ก็คือกล้ามเนื้อมัดลึก(Core stabilizer muscle) ซึ่งหน้าที่หลักของกล้ามเนื้อเหล่านี้คือพยุงแนวกระดูกสันหลังให้ตั้งตรงอยู่ในสมดุลโค้งที่ปกติ
การปรับโครงสร้างร่างกาย คือการสร้างกล้ามเนื้อมัดลึกให้มีความสมดุลแข็งแรง เพื่อดึงกระดูกที่คดให้เข้าในแนวตรง แต่ก่อนที่จะสร้างกำลังกล้ามเนื้อได้นั้น ต้องเตรียมความพร้อมของระบบเส้นเอ็น ข้อต่อ และเนื้อเยื่อต่างๆ ให้ยืดหยุ่นดีเสียก่อนจึงสามารถสร้างกำลังกล้ามเนื้อให้ดึงกระดูกกลับเข้าที่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองศาที่กระดูกสันหลังคด การตอบสนองของกล้ามเนื้อและข้อต่อของผู้ที่เป็นด้วย ผู้ที่ประสบปัญหากระดูกสันหลังคดหรือมีอาการต่างๆตามที่ได้กล่าวมานั้น สามารถเลือกวิธีการรักษาได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้อาการหรือความคดของกระดูกนั้นมากจนเกินแก้ไขได้ เพียงสัญญาณของร่างกายเริ่มส่งเสียงเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ควรรีบหาทางแก้ไข หากท่านสงสัยว่าตัวเองมีภาวะกระดูกสันหลังคดหรือร่างกายเริ่มบอกอาการบางอย่างบ่อยขึ้น ท่านไม่ควรปล่อยปะละเลยสัญญาณเหล่านั้น ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือนักกายภาพบำบัดเพื่อหาแนวทางการดูแลแก้ไขแต่เนิ่นๆค่ะ ฉบับหน้าเรามาติดตามกันว่าร่างกายจะบอกอะไรกับเราอีกบ้าง แล้วพบกันนะคะ