ฉบับนี้ว่าด้วยอาการปวดส้นเท้า ฝ่าเท้า และรองช้ำ เคสแบบนี้พบได้บ่อยๆ โดยมักพบว่าพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เป็นได้ง่ายขึ้นค่ะ
1. เดินเยอะ วิ่งเยอะ ยืนเยอะ ออกกำลังกายแบบกระโดดมาก
2. นั่งห้อยขาทั้งวัน โดยเฉพาะคนที่นั่งเท้าลอย-ฝ่าเท้าตก
3. ใส่ส้นสูง หรืออดีตเคยใส่ส้นสูงเป็นประจำ
4. ไม่ค่อยได้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อขา โดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่อง
ส่วนใหญ่หลายท่านอาจเข้าใจว่า เวลามีอาการเจ็บหรือปวดฝ่าเท้า มีสาเหตุคงจะมาจากใต้ฝ่าเท้า แต่ในความเป็นจริง สาเหตุหลักที่ทำให้เอ็นใต้ฝ่าเท้า (Plantar Fascia) เกิดการอักเสบและปวดขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่มาจากกล้ามเนื้อน่องที่ตึงรั้งมากกว่าปกติ ทำให้เกิดแรงกระชากเหมือนเอ็นใต้ฝ่าเท้าถูกยืดตลอดเวลา จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น เมื่อต้องใช้งานหนัก ๆ ต่อเนื่อง ด้วยพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น อาการปวดฝ่าเท้า ปวดส้นเท้า หรือรองช้ำนี้ มักมีอาการเริ่มต้นและรุนแรงเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ โดยเรียงลำดับความรุนแรงจากน้อยไปมาก ดังต่อไปนี้
1. เริ่มต้นจากการเมื่อยน่อง เป็นตะคริวที่น่อง รู้สึกกล้ามเนื้อน่องเกร็งๆ
2. เมื่อตื่นเช้า เหยียบแรกหลังจากลงจากเตียงจะรู้สึกเจ็บที่ฝ่าเท้า หรือที่ส้นเท้า แต่เดินสักพัก อาการก็จะหายไป
3. หากอาการจากข้อ 1-2 ไม่ได้รับการดูแลแก้ไขอย่างถูกต้อง จะทำให้อาการเจ็บหรือปวดฝ่าเท้า
เริ่มเป็นรุนแรงขึ้น คือเดินมากก็จะรู้สึกที่ฝ่าเท้ามีปุ่มแข็งๆ และรูสึกเหมือนมีปุ่มแข็งทิ่มที่ฝ่าเท้า เวลาเดิน ฯลฯ
4.ปวดทุกครั้งที่ยืน เดิน เท้าที่เจ็บจะเกร็งไม่กล้าลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้าเต็มที่ เพราะปวดมาก ปุ่มแข็ง จะใหญ่และเจ็บมากขึ้น รู้สึกบวมๆ ที่ใต้ฝ่าเท้า บางเคสอาจปวดร้าวไปตามแนวฝ่าเท้า จนไปถึง โคนนิ้วเท้า กรณีข้อ 4. นี้จะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมาก เพราะทุกครั้งที่เดินก็จะปวด เกร็ง ขาที่เจ็บมากกว่าปกติ เพราะไม่กล้าลงน้ำหนัก ทำให้ส่งผลถึงส่วนอื่นของร่างกาย นานเข้าอาจ ปวดเข่า ปวดสะโพก และปวดหลังตามมาได้
มาดูกันค่ะว่า รองช้ำ ปวดส้นเท้า ปวดฝ่าเท้านี้ ต้นเหตุมาจากอะไรที่จะเป็นความเสี่ยงให้เกิดได้
1. กล้ามเนื้อน่องเกร็ง ตึงรั้งมากกว่าปกติ ซึ่งอาจมาจากการใช้งานมาก เช่น วิ่งออกกำลังกาย
เดินมาก นั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าตก ฯลฯ ซึ่งไม่ได้รับการยืดเหยียดอย่างสม่ำเสมอ หรือก่อนและหลังการออกกำลังกาย อาจยืดกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ การเกร็งของกล้ามเนื้อน่อง (Gastrosoleus m.) การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อน่องจะเป็นตัวดึงให้กระดูกส้นเท้าถูกดึงขึ้น
ซึ่งเอ็นฝ่าเท้าเกาะอีกฝั่งของกระดูกส้นเท้า จึงเสมือนมีแรงดึงรั้งอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะ
เวลาลงน้ำหนักฝ่าเท้า ทำให้เอ็นฝ่าเท้าถูกยืดมากกว่าปกติและเกิดการบาดเจ็บขึ้นมา
ด้วยการที่เท้าต้องเป็นส่วนรับน้ำหนักตัวทุกครั้งที่ยืนเดิน ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำๆ ที่จุดเดิมๆ
ทำให้เกิดแคลเซี่ยมคั่งกลายเป็นกระดูกงอกในที่สุด ปุ่มแข็งๆ ที่รู้สึกเมื่อเหยียบพื้นนั้น
คือกระดูกงอกนั่นเอง
2. ความผิดปกติของอุ้งเท้า ไม่ว่าจะเป็นเท้าแบนหรืออุ้งเท้าโค้งมากกว่าปกติ มักส่งผลให้การลง น้ำหนักที่เท้าเปลี่ยนไป จึงเกิดแรงกดที่เอ็นใต้ฝ่าเท้ามาก ทำให้เกิดการฉีกขาด และอักเสบเรื้อรัง ได้ง่าย
นอกจากนี้ การมีน้ำหนักตัวมาก มีอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินต่อเนื่อง การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสำหรับเท้า
ก็ล้วนส่งผลให้เป็นรองช้ำได้ ทั้
หน้าที่หลักของเอ็นใต้ฝ่าเท้า คือการเป็นตัวกระจายน้ำหนักของร่างกาย (shock-absorbing bowstring) ดังนั้น สาเหตุใดก็ตามที่อาจส่งผลต่อการรับน้ำหนักที่เท้า ก็มักเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นรองช้ำ เจ็บฝ่าเท้า เจ็บส้นเท้าได้ค่ะ
การรักษาอาการปวดส้นเท้า รองช้ำ หรือเจ็บฝ่าเท้านั้น ในทางกายภาพบำบัดสามารถรักษาให้หายได้
ซึ่งการรักษาจะไม่ใช่การไปกดซ้ำที่บริเวณที่เจ็บ เพราะอาจเกิดการอักเสบเพิ่ม แต่เป็นการไปแก้ที่สาเหตุ
ที่ทำให้เป็น เช่น ต้องคลายกล้ามเนื้อน่อง สร้างกล้ามเนื้อสะโพก เพื่อลดแรงกดที่ฝ่าเท้า สร้างสมดุลการ
ลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้า เหล่านี้เรียกว่าเป็นการปรับโครงสร้างร่างกายให้สมดุลนั่นเอง
แต่ทั้งนี้หากเราฟังสัญญาณเตือนของร่างกายแต่เนิ่นๆ เมื่อเริ่มมีความรู้สึกที่เตือนเราก็รีบแก้ไขจัดการ
จะสามารถรักษาได้เร็วและหายขาดได้ หากถึงขั้นกระดูกงอก ในทางกายภาพบำบัดก็มีอุปกรณ์และเครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่จะรักษาในจุดที่เป็นได้ด้วย แต่จะดีที่สุดหากเริ่มรู้สึกเพียงเล็กน้อยแล้ว
รีบจัดการค่ะ เพราะ “ป้องกันไว้ก่อนที่จะสาย ดีกว่าแก้ทีหลัง” ซึ่งจะทำให้แก้ยากขึ้นเรื่อยๆ ตามอาการที่รุนแรงขึ้น …แล้วพบกันฉบับหน้านะคะ สวัสดีค่ะ