ครั้งก่อนที่ผู้เขียนได้เล่าเรื่อง “สัญญาณเตือนจากร่างกาย” ที่แสดงออกมาด้วยอาการปวดสะโพก หรือปวดก้นร้าวลงขา ได้รับการสอบถามจากท่านผู้อ่านหลายท่านทีเดียว ถึงเรื่องอาการปวดก้นแล้วร้าวลงที่หัวเข่า
ทำให้มีอาการปวดที่เข่า ขัดในข้อเข่าไปด้วย ฉบับนี้เลยอยากจะแชร์ให้ท่านผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับอาการปวดเข่าจากหลายๆ สาเหตุค่ะ
หลายท่านที่เมื่อมีอาการปวดเข่านิดเดียว แต่เป็นกังวลมากด้วยคิดไปว่าตัวเองจะเป็นเข่าเสื่อม ซึ่งในความเป็นจริง อาการปวดเข่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่จำเป็นว่าปวดเข่าแล้วจะแปลว่าเข่าเสื่อมเสมอไปค่ะ
ลองมาดูกัน ถึงสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดเข่าได้เหมือนกันนะคะ
– ปวดเข่าจากกล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุล (Muscle Imbalance)
– ปวดเข่าจากกล้ามเนื้อด้านในต้นขาอ่อนแรง (Vastus Medialis Oblique weakness)
– ปวดเข่าจากกล้ามเนื้อด้านข้างต้นขาตึงมากกว่าปกติ (Iliotibial band tightness)
– ปวดเข่าจากกล้ามเนื้อสะโพกอ่อนกำลัง (Gluteal Muscles weakness)
– ปวดเข่าจากการเกร็งรั้งของกล้ามเนื้อด้านหลังข้อพับ (Popliteus muscle strain)
ทั้งนี้ ลักษณะอาการปวดของแต่ละสาเหตุ จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ฉบับนี้ จะขอเล่าถึงอาการปวดเข่าจากเข่าเสื่อมก่อนนะคะ ส่วนอาการปวดจากสาเหตุอื่นๆ ค่อยนำมาเล่าต่อฉบับหน้าค่ะ
เข่าเสื่อม เป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
มีหน้าท้องยื่น ใช้งานเข่าหนัก เช่นเดินมาก ใส่ส้นสูงมาก เข่าเคยกระแทก หรือเคยเกิดอุบัติเหตุที่เข่า อาการไม่ได้รุนแรงทันที แต่จะค่อยๆ ปวดและมีอาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ได้ยินเสียงกร๊อบแกร๊บเวลาเคลื่อนไหว เวลางอหรือเหยียดเข่า จะปวดเสียวแปล๊บใต้ลูกสะบ้าหรือในเข่าลึกๆ หรือปวดแปล๊บเหมือนเข็มทิ่มในเข่าลึกๆ เวลาเคลื่อนไหวแบบบิดเข่า และปวดหรือเสียวในข้อเข่าหรือใต้ลูกสะบ้า เวลาลงน้ำหนักที่เข่าเต็มที่เมื่อ เดินขึ้นหรือลงบันได ฯลฯ
ลักษณะอาการต่อไปนี้ จะเป็นอาการที่ชัดเจนของโรคเข่าเสื่อมค่ะ
1. ปวดเข่า โดยปกติจะปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหว หรือมีการเดินลงน้ำหนัก แต่เมื่อพักจะดีขึ้น หรือ เมื่อนั่งในท่างอเข่า พับเข่านานๆ จะปวดในข้อเข่า เปลี่ยนท่าทางจะดีขึ้น จังหวะแรกที่จะขยับเข่า เหยียดออกจะปวดมาก ถ้าอาการค่อนข้างรุนแรงแล้วจะปวดตลอดเวลา
2. ข้อติดแข็ง ส่วนมากจะพบในตอนเช้าเมื่อตื่นนอนใหม่ๆ หรือเมื่ออยู่ในท่าทางใดท่าทางหนึ่ง นานๆ ต่อเนื่องโดยไม่ได้ขยับ
3. บวมรอบข้อเข่า อาจพบร่วมกับอาการแดงและร้อนเมื่อลองคลำบริเวณรอบเข่า
4. มีการผิดรูปของข้อเข่า ซึ่งเกิดจากผิวข้อ (Cartilage) บางลง แล้วตัวกระดูกมีการเสียดสีกัน จนเกิด กระดูกงอก ทำให้เข่าผิดรูปและขยายตัว จึงพบว่าผู้ที่มีเข่าเสื่อมรุนแรงรอบข้อเข่าจะใหญ่ขึ้น
5. มีเสียงดังภายในข้อเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหว ซึ่งเสียงที่เกิดขึ้นอาจมาจากการเสียดสีของผิวข้อ ภายในข้อเข่า
ท่านใดมีลักษณะอาการเพียง 3 ใน 5 ข้อ ก็จัดได้ว่ามีแนวโน้มเป็นอาการของข้อเข่าเสื่อมค่ะ และหากเป็นข้อเข่าเสื่อม เมื่อมีการ X-Ray จะพบว่าช่องว่างระหว่างกระดูกข้อเข่าจะแคบลง กระดูกผิวข้อบางลง และอาจพบกระดูกงอกได้
หลายท่านมีข้อสงสัยหากเสื่อมแล้วต้องผ่าตัดเลยไหม เสื่อมแล้วยังรักษาได้ด้วยหรือ?
คำตอบคือ รักษาได้หากไม่รุนแรงมากถึงขั้นทรมานตลอดเวลา ความเสื่อมที่เกิดไปแล้ว เราทำให้หายเสื่อมไม่ได้ แต่เราสามารถรักษาสภาพข้อต่อ-หมอนรองข้อเข่าที่มีอยู่ให้ทำงานได้เต็มที่ ไม่ให้เสื่อมหรือทรุดมากขึ้น โดยใช้วิธีสร้างกำลังกล้ามเนื้อที่เป็นตัวอุ้มข้อเข่าให้แข็งแรง ให้สมดุล ให้ทนพอต่อการรับน้ำหนักของร่างกาย ซึ่งหากเป็นคนน้ำหนักมากก็ต้องลดน้ำหนัก ช่วงที่ปวดมากต้องพัก อย่าลงน้ำหนักมากให้บาดเจ็บเพิ่ม
หน้าที่หลักของกล้ามเนื้อคือใช้เคลื่อนไหวส่วนหนึ่งและใช้พยุงข้อต่อต่างๆ อีกส่วนหนึ่ง จึงต้องสร้างให้ถูกกับหน้าที่ของแต่ละมัดกล้ามเนื้อ ขยับข้อต่อเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเหลวในร่างกายคือเลือดให้หล่อเลี้ยงเข่าได้เพิ่มขึ้น เพราะเวลาปวด กล้ามเนื้อก็มักเกร็งรั้งไปหมดทั้งน่อง และสะโพก เมื่อกระตุ้นการไหล เวียนเลือด ส่วนที่เกร็งก็จะคลาย ยิ่งทำให้การไหลเวียนดีขึ้น
สำหรับส่วนที่ต้องสร้างความแข็งแรงคือกล้ามเนื้อ เพื่อให้เคลื่อนไหว เดินได้คล่อง สร้างกล้ามเนื้อมัดที่พยุงข้อให้แข็งแรง
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นการปรับโครงสร้างร่างกายให้สู่สมดุล และสามารถแก้อาการของคนที่ปวดเข่าจากเข่าเสื่อมได้ค่ะ …แต่อย่างที่เรียนตอนแรก คือต้องเป็นกรณีที่ไม่ใช่รุนแรงมากถึงขั้นเข่าผิดรูปมาก และปวดตลอดเวลาทั้งตอนพักและตอนใช้งาน อันนี้ก็คงต้องประเมินกันอีกทีค่ะว่าจะดูแลรักษากันในแนวทางไหนถึงจะเหมาะสมกับความรุนแรงที่เป็นอยู่ค่ะ
ท่านทราบหรือไม่ว่า ข้อเข่าเป็นข้อต่อที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย เพราะต้องแบกรับน้ำหนักตัวของเราไว้ทั้งหมด เวลาเดินเข่าต้องรับหน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่าของน้ำหนักตัวเรา เมื่อเดินขึ้นบันได เข่าจะต้องรับน้ำหนักเพิ่มเป็น 3-4 เท่าของน้ำหนักตัวเรา นั่นแปลว่าเราต้องสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและสมดุลให้มาก เพื่อให้เข่าสามารถแบกรับน้ำหนักทั้งหมดของเราให้ไหว
ถ้าเริ่มรู้สึกว่ามีอาการเพียง 1 ใน 5 ของอาการข้อเข่าเสื่อมที่เล่าถึงข้างต้น ก็ควรได้รับการตรวจ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกัน ดีกว่ามาแก้ไขตอนที่เป็นมากแล้ว เพราะถึงตอนนั้นอาจแก้ไขให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิมได้ยากค่ะ
แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้ากับอาการปวดเข่าจากสาเหตุอื่นๆ นะคะ สวัสดีค่ะ…