โลกยุคปัจจุบันอันมีความเจริญด้านการสื่อสารแบบไร้พรมแดน การใช้ชีวิตของคนยุค4G ก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคทางระบบกระดูกกล้ามเนื้อได้มาก ด้วยท่าทางที่ต้องก้มอยู่กับเครื่องมือสื่อสารทั้งตอนทำงาน และเวลาว่าง ที่มานั่งจ้องจอโทรศัพท์ และนั่นก็ถือเป็นปัจจัยหลักทำให้พบว่าปัจจุบันมีคนที่มีอาการปวดคอเพิ่มมากขึ้นทุกปี
อาการปวดคอดังกล่าวมักส่งผลให้คนเรามีความเสื่อมเร็วกว่าปกติ โรคคอเสื่อมเป็นโรคที่คนเราเข้าใจว่าต้องอายุมากแล้วค่อยเกิด แต่ปัจจุบันพบว่าโรคคอเสื่อมเกิดได้ทั้งในเด็กที่อายุไม่ถึง 20 ปี ซึ่งถือเป็นข้อมูลสถิติที่น่ากลัวมาก ทั้งนี้ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำของวัยรุ่นที่เปลี่ยนไป มีการออกกำลังกายน้อยลง ติดสื่อออนไลน์มากขึ้น การนั่งเรียน การเล่นเกมส์ การเล่นมือถือ ล้วนแล้วเป็นท่าทางที่เป็นปัจจัยให้ร่างกายเสี่ยงต่อคอเสื่อมเร็วขึ้น หรือแม้แต่ชาวออฟฟิศที่นั่งก้ม ไหล่งุ้ม คอยื่น คางยื่น หลังค่อม อยู่ในท่าเดิมต่อเนื่อง ล้วนทำให้ร่างกายต้องเสื่อมเร็ว ซึ่งท่าทางเหล่านี้จะมีผลทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดร้าวขึ้นหัว ปวดร้าวขึ้นกระบอกตา อาการเหล่านี้หากแก้ไขไม่ตรงจุดหรือไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ มักส่งผลกระทบทำให้เป็นโรคคอเสื่อมได้ง่าย เนื่องจากกล้ามเนื้อคอ บ่า สะบักนั้น จุดเกาะของกล้ามเนื้อเหล่านี้ล้วนไปเกาะตามแนวกระดูกคอ ซึ่งถ้าเกร็งมากเป็นเวลานานต่อเนื่อง ความตึงนี้ก็เสมือนกระชากดึงรั้งที่คอตลอดเวลา
หมอนรองกระดูกคอองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำถึง 70%ทำหน้าที่เสมือนเป็นโช็คอัพให้คอ เป็นตัวที่คอยกระจายแรง รองรับน้ำหนักคอ และน้ำหนักศีรษะ เมื่อถูกกระชากบ่อยๆ นานๆ ต่อเนื่อง จึงทำให้หมอนรองกระดูกคอค่อยๆบางลงเรื่อยๆ เป็นสาเหตุให้เกิดหมอนรองกระดูกคอเสื่อมในที่สุด
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเสี่ยงต่อภาวะกระดูกคอเสื่อมไหม? อาจต้องสังเกตอาการตัวเองสักพักว่า เราปวดจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวธรรมดา หรือเสี่ยงต่อหมอนรองกระดูกคอเสื่อมแล้ว หากมีอาการเพียง 4 ใน 10 ข้อ ท่านควรจะต้องได้รับการตรวจโครงสร้างร่างกายทันที ก่อนที่อาการปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ธรรมดา จะกลายเป็นคอเสื่อม และอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายจนสายเกินจะแก้ไข ลองตรวจสอบตัวเองด้วยอาการดังต่อไปนี้ว่า คุณมีความเสี่ยงเป็นโรคคอเสื่อมหรือไม่?
- ปวด / เมื่อย หรือล้า บริเวณกล้ามเนื้อบ่า ต้นคอ เมื่อทำงานต่อเนื่องเพียงไม่ถึงชั่วโมง เช่นขับรถ ทำคอมพิวเตอร์
เขียนงาน หิ้วของหรือกระเป๋าสะพายบ่า(เบาๆ) นั่งเล่นโทรศัพท์ หรือนั่งประชุมธรรมดา ก็กระตุ้นอาการฯลฯ - อาการปวด มากขึ้นเรื่อยๆจนรู้สึกรำคาญ บางครั้งทนไม่ไหวต้องทานยา หรือบีบนวดแล้วอาการจึงทุเลาลง
- เมื่อใช้มือจับบริเวณต้นคอหรือบ่ารู้สึกได้ว่ามีอาการร้อนรุมๆ มากกว่าบริเวณอื่นๆ
- มีเสียงกร๊อกแกรก เวลามีการเคลื่อนไหวธรรมดาหรือเวลาหันคอ หรือเงยคอจะปวดเสียวแปล๊บๆลงสะบักได้
- เมื่อปวดมากๆ มักร้าวขึ้นศีรษะ ทำให้ปวดเหมือนไมเกรน หรือปวดรุมๆ ที่กระบอกตา มึนๆ ตึงๆ ที่ศีรษะ มีร้าวลงแขน
หรือสะบัก - บางครั้งมีอาการชาหรือปวดร้าวตลอดแขนไปจนถึงฝ่ามือ หรือนิ้วมือ หยิบจับของไม่มั่นคง มักหล่นบ่อย ๆ
- เมื่อทานยาหรือนวดผ่อนคลายแล้ว อาการปวดทุเลาลงได้ไม่ถึง 2-3 วันอาการก็กลับมาอีก ต้องทานยาหรือติดนวดบ่อยๆ
เป็นประจำ - รู้สึกหนักหัว และง่วงเพลียตลอดทั้งวัน หาวบ่อย โดยเฉพาะช่วงบ่ายๆ ทั้งที่พักผ่อนเพียงพอ
- ตื่นเช้ามักมีอาการเหมือนคอตกหมอน หรือคอเคล็ดบ่อยๆ หันคอแล้วปวดตึง
- อาการที่เป็นอยู่ทำให้รำคาญ หงุดหงิดใจ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ศักยภาพการทำงานลดลงคิดไม่ออก ไม่สดชื่น
คอเสื่อมก่อนวัยเป็นเพียงผลพ่วงมาจากกล้ามเนื้อไม่สมดุล(Muscle imbalance) กล้ามเนื้อเกร็งเรื้อรัง(Chronic muscle strain) ยังไม่รวมผู้ที่คอเสื่อมจากความไม่สมดุลของกระดูกสันหลังที่เรียกว่า “กระดูกสันหลังคด” (Scoliosis) ซึ่งพบมากในปัจจุบัน คนทั่วไปมักคิดว่ากระดูกสันหลังคดเกิดจากกรรมพันธ์ แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมด และที่น่ากลัวคือ กระดูกสันหลังคด ส่งผลต่อระบบภายในร่างกายได้อีกมากมาย ทั้งอวัยวะภายใน และระบบกระดูกกล้ามเนื้อ
อย่างไรเรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังคด? กระดูกสันหลังคดส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง เรามาพบคำตอบในครั้งหน้าค่ะ