สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน หลายฉบับก่อนหน้าเราได้ทราบอาการปวดหลังที่มาจากสาเหตุต่างๆ ไปแล้ว ยังไม่หมดเท่านั้นนะคะ อีกสาเหตุที่ทำให้ปวดหลังได้บ่อยครั้งก็คือ กล้ามเนื้อหลังอักเสบค่ะ (Muscle Strain) ซึ่งกล้ามเนื้อหลังอักเสบนี้ถือว่าเป็นการปวดหลังที่รุนแรงน้อยที่สุดแล้วค่ะ แต่ตอนที่ปวดเฉียบพลันขึ้นมาก็มีผลทำให้ผู้มีอาการปวดกังวลได้มากไม่แพ้ปวดหลังที่มาจากสาเหตุอื่นๆ เลยค่ะ และเมื่อเกิดความกังวลก็มักตัดสินใจรักษาตัวเองด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม บางครั้งอาจจะเกินความจำเป็น หรือที่เรียกว่า Over-Treatment ได้เหมือนกันค่ะ นั่นก็แปลว่ามักเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากเกินความจำเป็นค่ะ และที่สำคัญการรักษาดังกล่าวมักเกิดผลข้างเคียงทำให้เนื้อเยื่อได้รับอันตรายและเสื่อมเร็วกว่าปกติ มีผลกระทบให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บบ่อยๆได้ค่ะ เรามาทำความรู้จักกับกล้ามเนื้ออักเสบดีกว่าค่ะ
อาการของกล้ามเนื้ออักเสบบางครั้งก็คล้ายกับอาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทมาก เพราะมักมีอาการปวดมาก และปวดในทุกอิริยาบถที่ขยับ ยิ่งในช่วงที่อักเสบใหม่ๆ จะคล้ายกันตรงที่ขยับท่าไหนก็ปวดไปหมด บางเคสใช้คำว่า “หายใจแรงก็ปวด” จะเอี้ยวตัว บิดตัว เปลี่ยนท่าทางก็มักปวดไปหมด ปวดจากกล้ามเนื้ออักเสบมักปวดอยู่เฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อหลัง ปวดเป็นจุดๆ น้อยมากที่จะปวดร้าวลงสะโพก (ซึ่งหากเป็นหมอนรองกระดูกปลิ้นอาการปวดมักร่วมกับปวดร้าวลงสะโพก และลงขา มีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วยในบางเคส) สิ่งที่จะสามารถแยกว่าเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือกล้ามเนื้ออักเสบนั้น ที่จะบอกได้ชัดเจนคือกลไกการเกิด ซึ่งถ้าเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนมักเป็นจากท่าก้มหลังยกของหนัก หรือท่าบิดเอี้ยวที่เร็วและแรง เป็นต้น แต่สาเหตุของกล้ามเนื้ออักเสบธรรมดามักมีเหตุมาจาก การเล่นกีฬา เช่นเล่นเวทหนักๆ การเล่นชกมวย การวิ่ง การปั่นจักรยาน การเล่นคลาสออกกำลังกายต่างๆ ซึ่งมักแสดงอาการหลังจากวันที่เล่นประมาณ 1-2 วัน ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่เริ่มเล่นใหม่ๆ เนื่องจากกล้ามเนื้อในร่างกายสภาพไม่พร้อมที่จะเล่น หรือการเล่นอาจหนักเกินกำลัง ฯลฯ
การอยู่ในท่าเดิมนานๆ เช่นนั่งเครื่องหรือนั่งรถนานๆ โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ และถ้ายิ่งนั่งแบบเอนหลังแบบกึ่งนั่งกึ่งนอนก็ยิ่งทำให้เยื่อหุ้มกล้ามเนื้อหลังถูกยืดมากกว่าปกติ หลังรับน้ำหนักมาก ร่วมกับแรงที่กระแทกจากการนั่งรถหรือนั่งเครื่อง ก็ส่งผลให้กล้ามเนื้ออักเสบได้
การเคลื่อนไหวที่ผิดจังหวะ เช่นบิดตัว เผลอลุกจากท่านอนเร็วๆ หรือลุกจากเก้าอี้เร็ว ๆ เอื้อมหรือเอี้ยวหยิบของ
กรณีเคสที่เคยมีประวัติการบาดเจ็บที่หลัง ไม่ว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อน หมอนรองกระดูกเสื่อม กระดูกเคลื่อน ฯลฯ กลุ่มนี้มักจะมีกล้ามเนื้อมัดลึกที่เป็นตัวพยุงหลังไว้ไม่แข็งแรง ถือเป็นจุดอ่อนของร่างกาย เวลาที่มีการใช้งานที่มากกว่าปกติติก็มักเจอว่ากล้ามเนื้อจะอักเสบได้ง่าย หรือในทางเทคนิคเรียกว่า Recurrent Pain
อย่างไรก็ตาม กล้ามเนื้ออักเสบก็สามารถเกิดร่วมกับปวดจากภาวะอื่นได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อเป็นเนื่อเยื่อที่พยุงข้อต่อหลังไว้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะบาดเจ็บส่วนไหนก็อาจส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อได้ ในระยะเฉียบพลันเมื่อคาดว่าอาจมีการอักเสบของกล้ามเนื้อ การดูแลตัวเองเบื้องต้นคือใช้หลัก PRICE คือ
- P Protect ป้องกันการบาดเจ็บเพิ่ม ระมัดระวังไม่ให้ลุกลาม
- R Rest พัก คือไม่เคลื่อนไหว อยู่นิ่งๆ ในท่าที่สบาย เพื่อให้เนื้อเยื่อได้ซ่อมแซม
- I Ice ใช้ความเย็นประคบบริเวณที่ปวดหรืออักเสบ ซึ่งบริเวณอักเสบจะร้อนๆรุมๆ ความเย็นจะลดอักเสบได้ดี
- C Compression ถ้ารู้สึกว่าบวม ควรใช้ผ้ามัดเพื่อให้มีแรงกดตรงบริเวณที่อักเสบ จะช่วยลดบวมจากการอักเสบได้
- E Elevation ถ้าเป็นบริเวณส่วนปลายแขน ขา ก็ควรยกบริเวณที่อักเสบนั้นให้สูง
แต่หากลองดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ไม่ควรปล่อยไว้นาน ควรได้รับการตรวจและรักษาให้ถูกทางอาการก็หายได้เร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินจำเป็นด้วยค่ะ อย่าลืมว่าหมอที่เก่งที่สุดคือตัวเราเอง ที่รู้ว่าร่างกายเราปวดมาจากอะไร เพราะฉะนั้นตั้งสติ แล้วค่อยเลือกที่จะดูแลตัวเองให้ถูกที่ และเหมาะสมกับร่างกายตัวเองค่ะ พบกันฉบับหน้านะคะ