นอกจากภาวะความเครียดที่บั่นทอนสุขภาพของเหล่ามนุษย์เงินเดือนในออฟฟิศที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำกันเป็นปีๆแล้ว สภาพออฟฟิศที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น แสงไฟน้อยหรือมากเกินไป อากาศไม่ถ่ายเท เก้าอี้ โต๊ะทำงานหรือโต๊ะคอมพิวเตอร์ ไม่ได้สัดส่วนกับร่างกาย รวมทั้งสภาพร่างกายหรือการจัดสมดุลโครงสร้างร่างกายไม่เหมาะสมในการทำงาน หลังเลิกงานยังต้องฝ่าด่านรถติดหนึบบนท้องถนนวันละหลายๆ ชั่วโมง ไม่ว่าจะนั่งหรือยืนโหนรถเมล์หรือรถไฟฟ้า หนำซ้ำเมื่อกลับถึงบ้าน บางคนยังนอนอย่างไม่ถูกสุขลักษณะเสียอีก
ชาวออฟฟิศส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จึงเสี่ยงต่ออาการ “ปวดเมื่อยเรื้อรัง” หรือบางคนอาจจะรู้จักในชื่อ “ออฟฟิศซินโดรม” จริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่ต่างก็ทราบกันดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมการทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ และที่สำคัญที่สุด ก็คือ พฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันหรืออิริยาบถ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมากว่ามีประโยชน์ แต่ จนแล้วจนรอดก็ถูกมองข้ามหรือลดความสำคัญลงอย่างน่าเสียดาย และ นี่เองจึงเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อร่างกายโดยตรง และเป็นตัวกำหนดถึงความเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายของคนเราได้ในอนาคต ลองไปดูข้อมูลจากสถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ ที่ได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้พร้อมเทคนิคดีๆ 10 วิธี บอกลาอาการปวดก่อนที่โครงสร้างร่างกายจะเสียสมดุล
1. การนั่งไขว่ห้าง พฤติกรรมยอดฮิตที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายทำกันเป็นปกติ คุณรู้ไหม ? การนั่งไขว่ห้างจะทำให้น้ำหนักตัวลงที่ก้นข้างใดข้างหนึ่ง เป็นผลให้กระดูกคดอย่างแน่นอน หรืออาจจะคดแล้วก็ได้โดยที่คุณไม่รู้ตัว
2. การนั่งกอดอก เบื่อไม่รู้จะทำอะไรกอดอกไว้ก็ดี แต่รู้ไหมว่าจะทำให้หลังช่วงบน สะบัก และหัวไหล่ ถูกยืดยาวออก หลังช่วงบนค่อมและงุ้มไปด้านหน้า ทำให้กระดูกคอยื่นไปด้านหน้า มีผลต่อเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงแขน อาจทำให้มืออ่อนแรงหรือชาได้ นอกจากนี้ยังมีผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เพราะถ้ากระดูกคอผิดรูปจะทำให้กล้ามเนื้อคอเกร็ง และจำกัดการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เป็นสาเหตุของการอาการปวดศีรษะหรืออาจทำให้เป็นไมเกรนเรื้อรังได้
3. การนั่งหลังงอ/นั่งหลังค่อม ไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหน หากนั่งหลังค่อมติดต่อกันนานๆ เป็นชั่วโมง จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งค้าง เกิดการคั่งของกรดแลกติค ทำให้มีอาการเมื่อยล้า ปวด และมีปัญหาเรื่องกระดูกผิดรูปตามมา
4. การนั่งเบาะเก้าอี้ไม่เต็มก้น คนส่วนใหญ่ชอบนั่งแบบครึ่งก้น แต่รู้ไหมว่าการนั่งแบบนี้ จะทำให้กล้ามเนื้อหลังต้องทำงานหนัก เพราะฐานในการรับน้ำหนักตัวแคบ แต่ในทางตรงข้าม ถ้านั่งให้เต็มก้นเต็มเบาะ คือเลื่อนก้นให้เข้าในสุดจนติดพนักพิง จะทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานน้อยและเกิดการรองรับน้ำหนักตัวได้เต็มที่
5. การยืนพักขาลงน้ำหนักด้วยขาข้างเดียว แอคท่านึกว่าเป็นนายแบบ แต่หารู้ไม่ว่าการยืนแบบนี้ไม่ถูกต้องเลย ที่ถูกต้องจะต้องลงน้ำหนักที่ขาทั้ง 2 ข้างเท่าๆ กัน โดยยืนให้ขากว้างเท่าสะโพก จะทำให้เกิดความสมดุลของโครงสร้างร่างกาย ไม่ทำให้กล้ามเนื้อข้างใดข้างหนึ่งต้องทำงานหนักมากเกินไป ในทางตรงข้ามหากยืนพักขาหรือลงน้ำหนักขาไม่เท่ากัน จะทำให้กระดูกเชิงกรานบิดเบี้ยว ส่งผลให้กระดูกสันหลังคดได้
6. การยืนแอ่นพุง/ค่อมหลัง นอกจากจะบุคลิกไม่ดีแล้ว ยังนำไปสู่อาการปวดหลังได้ ควรยืนหลังตรง แขม่วท้องเล็กน้อย ขณะยืน เดิน หรือนั่ง โดยให้มีสติรู้สึกตัวอยู่ตลอด หากเป็นไปได้ควรทำตลอดเวลา เพื่อเป็นการรักษาแนวกระดูกช่วงล่างไม่ให้แอ่นและทำให้ไม่ปวดหลัง
7. การใส่ส้นสูงเกิน 1 นิ้วครึ่ง ผู้หญิงยุคใหม่อยากสวยเพรียว เปรี้ยวจี๊ด ดุจเป็นซุปเปอร์โมเดล แต่ถ้าหากทำแบบนี้บ่อยๆ นอกจากอันตรายจากการหกล้มแล้ว ส้นสูงมากๆ ยังจะทำให้แนวกระดูกสันหลังช่วงล่างแอ่นมากกว่าปกติ ซึ่งจะนำมาสู่อาการปวดหลังและการมีโครงสร้างร่างกายที่ผิด ใส่ได้แต่ไม่ควรยืนนานเป็นอันขาด
8. การสะพายกระเป๋าหนักข้างเดียว หากของหนัก แค่ท่าเดินก็รู้แล้วว่าร่างกายน่าจะมีปัญหา จึงไม่ควรสะพายกระเป๋าข้างใดข้างหนึ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนเป็นการถือกระเป๋า โดยใช้ร่างกายทั้ง 2 ข้างให้เท่าๆกัน อย่าใช้แค่ข้างใดข้างหนึ่งตลอด เพราะจะทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักอยู่เพียงซีกเดียว ซึ่งจะส่งผลให้กระดูกสันหลังคดได้
9. การหิ้วของด้วยนิ้ว นอกจากจะเสี่ยงต่อโรคนิ้วล็อคแล้ว การใช้นิ้วหิ้วของหนักบ่อยๆ จะมีผลทำให้มีพังผืดยึดตามข้อ นิ้วมือ เพราะกล้ามเนื้อในมือเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก หน้าที่หลักคือการใช้หยิบ , จับโดยไม่หนัก แต่หากต้องใช้จับหรือหิ้วหนักๆ จะทำให้เส้นเอ็นมีการเสียดสี และเกิดพังผืดในที่สุด ยิ่งหากหิ้วหนักมากๆ จะทำให้รั้งกล้ามเนื้อมัดอื่นๆ และเกี่ยวโยงไปถึงกระดูกคอ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งมากกว่าปกติ มีผลต่อการทรุดของกระดูกและกดทับเส้นประสาทได้
10. การนอนขดตัว/นอนตัวเอียงกลับถึงบ้านจะพักผ่อนนอนหลับยังมีปัญหาได้อีก นั่นเป็นเพราะที่นอนที่นุ่มจนเกินไป หรือแข็งจนเกินไป นอกจากนี้ยังอยู่ที่ท่านอนด้วยเช่นกัน ไม่ควรนอนขดตัวหรือนอนเอียง ควรนอนหงายเพราะเป็นท่านอนที่ถูกต้องที่สุด ควรนอนให้ศีรษะอยู่ในแนวระนาบ ขนานกับเพดาน ไม่แหงนหน้าหรือก้มคอมากเกินไป หมอนหนุนศีรษะต้องไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป ต้องหนุนถึงช่วงไหล่ทั้ง 2 ข้าง และควรมีหมอนรองใต้เข่าเพื่อลดความแอ่นของกระดูกสันหลังช่วงล่าง หากจำเป็นต้องนอนตะแคงให้หาหมอนข้างก่าย โดยให้ขาที่ก่ายทั้งหมดอยู่บนหมอนข้าง เพื่อรักษาแนวกระดูกให้อยู่ในแนวตรง
อิริยาบถเหล่านี้ หากเราทำซ้ำๆ กัน อยู่ทุกวันโดยไม่ถูกต้องเหมาะสม อาจสายเกินแก้ ทางที่ดีต้องหาทางป้องกันเยียวยา ก่อนที่จะเป็นโรคแล้วจึงรักษา เพราะเมื่อเป็นแล้วก็ยากต่อการเยียวยาให้ร่างกายกลับมาเหมือนเดิม แถมยังต้องเสียเงินทอง เสียเวลา รวมทั้งสร้างความทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่นอีกด้วย