ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ที่อะไรๆ ก็เร่งรีบและสะดวกสบายไปหมด แม้กระทั่งการออกกำลังกาย ก็สามารถหาได้ง่ายๆ ตามห้างสรรพสินค้า ถ้าไม่เกี่ยงเรื่องราคารับรองออกมา ฟิต แอนด์ เฟิร์ม กันได้อย่างสบายๆ อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายด้วยสารพัดอุปกรณ์ อาจเป็นที่มาของโรคโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการเล่นเวท การลดพุงด้วยซิทอัพ การวิ่งบนสายพาน ฯลฯ หากเล่นผิดท่าจะทำให้เกิดการเจ็บปวด ลงท้ายด้วยการกินยา ไปหาหมอ และถ้าโชคร้ายอาจต้องพึ่งการผ่าตัดซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่คาดคิดมาก่อน
เพ็ญพิชชากร แสนคำ Clinical Director สถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ บอกว่า ในปัจจุบัน นอกจากผู้ที่เข้ามาปรึกษาอาการปวด เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีเคสของคนรุ่นใหม่ที่มาด้วยอาการปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดขา จากการออกกำลังกายในฟิตเนส โดยเฉพาะคนที่เริ่มเล่นเวท ( weight ) ที่ขาดการฝึกสอนที่ถูกต้อง จะทำให้ได้รับบาดเจ็บตามมาและกลายเป็นปัญหาปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง หมอนรองกระดูกเคลื่อน บางคนหมอต้องให้เข้าเฝือกและห้ามไปเล่นฟิตเนสอีกเลยก็มี
อย่างไรก็ตามการเล่นฟิตเนสนั้น ในระยะแรกๆ จะมีอาการปวดเมื่อยประมาณ 2-3 วัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีอาการปวดมากกว่า 1 สัปดาห์ แสดงว่ากล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ หรือกระดูกมีปัญหาอย่างแน่นอน และหากฝืนเล่นต่อไปขณะที่กล้ามเนื้อยังบาดเจ็บ ก็จะทำให้เซลล์กล้ามเนื้อตาย ส่งผลเสียในระยะยาวทางที่ดีหากเกิดปัญหาควรพักให้เต็มที่ ปรึกษาคุณหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญน่าจะดีที่สุด
สำหรับอาการบาดเจ็บ อาการปวดต่างๆ ที่มักพบในฟิตเนสก็คือ
1) ขาดการยืดกล้ามเนื้อก่อนเล่นก่อนเล่นเวทต้องเริ่มวอร์มอัพก่อน เพื่อให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเกิดความยืดหยุ่น พร้อมสำหรับการออกแรงมากๆ หากเรายืดกล้ามเนื้อไม่เพียงพอระหว่างที่เล่นจะทำให้เราเกิดการบาดเจ็บและปวดเมื่อยได้ และหลังเล่นเสร็จแล้วก็ควรยืดกล้ามเนื้ออีกครั้ง เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก
2) บ้าพลังใช้น้ำหนักมากจนเกินไป เข้าฟิตเนสแล้ว โดยเฉพาะหนุ่มๆ มักอยากจะให้กล้ามเป็นมัดกันเร็วๆ เมื่อเห็นแป้นน้ำหนักหรือเวท จึงเลือกที่น้ำหนักมากๆ ซึ่งผลเสียที่เกิดขึ้นก็คือกล้ามเนื้อบาดเจ็บ เพราะรับน้ำหนักมากเกินไป ถ้าฝืนเล่น คราวนี้ มีสิทธิ์ต้องรักษากันอีกนาน นอกจากนี้ ยังมีสิทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อฝ่อหรือกล้ามเนื้อโตผิดที่ได้อีกด้วย
3) ทิ้งน้ำหนักตัวมากเกินไปบน Stair Stepper หรือวิ่งบนสายพานมาก ถ้าหากเราทิ้งน้ำหนักตัวมากเกินไป ( หรืออ้วนเกินไป ) รวมทั้งการสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม อาจจะทำให้เราได้รับบาดเจ็บที่หน้าแข้งและข้อเท้า รวมทั้งรองช้ำ (เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ) ก็ได้ ทางที่ดีจึงควรสังเกตตนเองก่อน
4) ฟิตเกินไป อะไรๆ ที่มากหรือน้อยเกินไปย่อมจะทำให้เกิดผลเสียได้ เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย ถ้าน้อยไปก็ไม่ได้ผล ถ้ามากไปก็อาจจะทำให้ส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ ซึ่งการออกกำลังกายหนักจนเกินไป ( มากกว่า 1 ชั่วโมง ) จะทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าหรือตึงกล้ามเนื้อจากการออกแรงมากเกินไป จะเกิดอาการ นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการกล้ามเนื้อฝ่อได้เช่นกัน เพราะการออกกำลังกายที่หนักมากเกินไป ( ในคนปกติที่ไม่ใช่นักกีฬาที่ฝึกมาดีแล้ว ) ร่างกายจะดึงเอาคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนที่ร่างกายสะสมไว้ไปใช้ ทำให้กล้ามเนื้อเราฝ่อได้นั่นเอง
5) เล่นผิดท่า ในฟิตเนสมีอุปกรณ์มากมายให้เล่น นอกจากการใช้น้ำหนักมากเกินไปที่จะส่งผลเสียต่อกล้ามเนื้อและระบบโครงสร้างร่างกายแล้ว การเล่นอุปกรณ์แบบผิดๆ ยังส่งผลต่อร่างกายได้อย่างมาก เช่น ท่า SEATED CABLE ROW สำหรับการบริหารกล้ามปีก โดยเฉพาะกล้ามปีกส่วนกลาง แต่หากบริหารผิดวิธีจะทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนของ Lumbar Spine ถูกกระทบกระเทือน โดยเฉพาะการโค้งตัวไปข้างหน้ามากเกินไปจะทำให้หลังส่วนล่างผิดปกติ ท่า UPRIGHT ROW หรือท่า SIDE LATERAL RAISE สำหรับสร้างกล้ามเนื้อที่หัวไหล่ ถ้าทำผิดวิธีหรือใช้น้ำหนักมากเกินไปแล้ว จะทำให้เกิด อันตรายที่หลัง เพราะโดยปกติแล้วข้อต่อบริเวณหลังส่วนล่างนี้ จะรับน้ำหนักได้เพียง 15 – 20 % ของน้ำหนักที่กระดูกสันหลังคุณรับได้ แต่เมื่อเราบริหารผิดวิธี ( ยกลูกน้ำหนักสูงเกินไปและเร็วเกินไป ) จะทำให้เกิดการบาดเจ็บเฉียบพลัน ที่ถูกคือบริหารอย่างช้าๆ ใช้ลูกน้ำหนักที่บริหารให้พอเหมาะ รักษาท่าทางให้ถูกต้องตลอดการบริหาร หลีกเลี่ยงการแอ่นลำตัวไปข้างหลังอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการฟิต ที่อาจทำให้หนุ่มสาวยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพต้องระวังกันเป็นพิเศษ เพราะคงไม่ดีแน่ ถ้าออกกำลังกายแล้วได้โรคภัยเป็นของแถม