พบกันอีกรอบนะคะ กับอาการปวดศีรษะ ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงการปวดศีรษะที่มาจากไมเกรนไปแล้ว พอทราบกันแล้วว่า หากจัดว่าปวดเพราะเป็นไมเกรนนั้นต้องมีอาการปวดค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุดและอีกหลายข้อที่ลองให้ตรวจสอบตัวเองในฉบับที่แล้ว ฉบับนี้มาว่าด้วยอาการปวดที่หลายท่านเป็นกังวลเนื่องจากความปวดที่รบกวนในชีวิตประจำวันค่อนข้างมากจึงต้องคิดไปต่าง ๆ นานา บางเคสกังวลมากถึงกับต้องเสียค่าใช้จ่ายในการไปตรวจ CT Scan สมอง ทั้งๆ ที่อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นไม่มีข้อไหนเข้าเกณฑ์ที่จำเป็นต้องไปเสียค่า Scan เลยค่ะ หากเราพิจารณาร่างกายเราที่กำลังเตือนในสิ่งที่เป็นสักนิด เราอาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายขนาดนั้นก็ได้ค่ะ ปวดอย่างไรต้องกลัวตัวเองเป็นเนื้องอกในสมอง (Brain Tumor)ท่านที่มีอาการปวดหัวลองสังเกตตัวเองดูค่ะ
- ปวดหัวบ่อยๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน อาการปวดจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ปวดกลางคืนเวลานอน ต้องตื่นเพราะอาการปวด หากปวดจากเนื้องอกในสมองมักมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยอย่างเด่นชัด ไม่ใช่เป็นการปวดหัวเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจร่วมกับข้ออื่นอีก
- ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมักอ่อนแรง รู้สึกได้ว่าไม่คล่องแคล่ว อาการนี้จะค่อยเป็นค่อยไป และรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- มักมีอาการชัก ร่างกายกระตุก เป็นจุดๆ หรือเป็นส่วนๆ อาจเป็นตามใบหน้า หรือแขน เป็นต้น นานเข้าก็มักเห็นได้ชัดเจนขึ้น
- อาจเห็นภาพซ้อน เบลอ หรือสับสน มีปัญหาในการตัดสินใจ
- มักเสียการทรงตัวร่วมด้วย
- ฯลฯ
แต่ทั้งนี้กลุ่มที่ปวดศีรษะจากเนื้องอกในสมองจะมีอาการใดร่วมนั้น ก็ขึ้นกับตำแหน่งที่เนื้องอกไปกระทบต่อสมองส่วนนั้นๆ ด้วยค่ะ แต่อาการปวดศีรษะในกรณีนี้ มักจะระบุตำแหน่งเป็นจุดๆ ไม่ได้ ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นก็มักกล่าวว่าปวดหัว ปวดในศีรษะ ระบุตำแหน่งที่ชัดไม่ได้ ฯลฯ
กลุ่มสุดท้าย อาการปวดจากความตึงตัว (Tension Headache) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุดที่มาด้วยอาการปวดศีรษะค่ะ สาเหตุของปวดศีรษะที่เกิดจากความตึงมาจากการนั่งทำงานต่อเนื่องนาน กลุ่มปวดจากออฟฟิศซินโดรม ปวดจากหิ้วของหนัก เครียด นอนน้อย หลังค่อม ไหล่งุ้มจนทำให้ปวดตึงมาที่คอ บ่า สะบัก ปวดขึ้นศีรษะ ปวดขมับ (ส่วนใหญ่เป็นทั้ง 2 ข้าง) ปวดหัวคิ้ว ปวดข้างกกหู ปวดกระบอกตา รู้สึกได้ว่าลืมตาได้ไม่สุด บางเคสอาจมีอาการหูอื้อ หรือหายใจไม่โล่งจมูกร่วมด้วยค่ะ ส่วนข้อบ่งชี้ของอาการปวดศีรษะจากความตึงตัวนี้ (Tension Headache)จะค่อนข้างชัดเจน คือ
- อาการปวดต่าง ๆ จะถูกกระตุ้นจากการทำงานต่อเนื่องนาน และหนัก ปวดมากตอนบ่ายๆ เย็นๆ หลังจากที่ทำงานต่อเนื่องมา
- ภาวะเครียดกระตุ้นให้มีอาการปวดชัดเจน
- หากใช้งานร่างกายหนัก เช่นก้มมาก ใช้คอมพิวเตอร์มาก อ่านหนังสือมาก นั่งประชุมมาก ก็จะปวดมากขึ้น
- เวลาปวดจะระบุตำแหน่งได้ค่อนข้างชัดเจน บอกจุดได้แม่นยำว่าปวดบริเวณใด เพราะปวดศีรษะจากความตึงนั้นปวดจากกล้ามเนื้อเป็นส่วนมาก
- อาการปวดจะดีขึ้นเมื่อได้รับการพัก นอน หรือบรรเทาด้วยการบีบนวด หรือได้ขยับ ยืด เหยียด บริเวณนั้นๆ
- ปวดจากความตึงตัวส่วนใหญ่จะเป็นจากกล้ามเนื้อที่อยู่ลึกๆ เป็นมัดกล้ามเนื้อที่เป็นทางผ่านของหลอดเลือด และเส้นประสาทที่ขึ้นไปศีรษะ และกระบอกตา จึงทำให้อาการปวดร้าวขึ้นตามแนวดังกล่าวได้
อาการปวดจากความตึงตัวนั้น ความรุนแรงจะมีได้หลายระดับ มีตั้งแต่แค่เมื่อยๆ รู้สึกรำคาญ ปวดมากจนเหมือนรุมๆ ร้อน ๆ เหมือนเป็นไข้ หนักๆ ที่คอ บ่า และหัว อึนๆ หัวเหมือนเลือดไม่ไหลเวียน นอนมากแต่ยังรู้สึกหัวหนักๆ เหมือนคนไม่ได้นอน ไม่สดชื่นเพราะออกซิเจนขึ้นไปเลี้ยงสมองได้ลดลง จากเลือดที่ไหลเวียนไม่สะดวก ฯลฯ
เป็นอย่างไรบ้างคะอ่านมาทั้งหมดแล้ว ท่านใดที่ปวดศีรษะอยู่ บอกตัวเองได้หรือยังคะว่าตัวเองปวดจากอะไร แต่ไม่ว่าจะปวดจากสาเหตุไหนหากรู้จักร่างกายตัวเองเป็นอย่างดี ฟังเสียงร่างกายที่กำลังส่งเสียงบอกอยู่ เรามีความรู้แล้วก็ประเมินตัวเองได้คร่าวๆ ค่ะ ว่าจะต้องจัดการตัวเองอย่างไรต่อ ที่สุดแล้วถึงเราจะไปพบแพทย์ ท่านก็จะถามกลับเราอยู่ดีว่าอาการปวดในร่างกายเรามีต้นสายปลายเหตุมาจากอะไร ลักษณะการปวดเป็นแบบไหน อะไรที่ทำให้อาการปวดแย่ลง แล้วอะไรทำให้อาการปวดดีขึ้น เช่นนั้นเราจึงต้องลองทบทวนเสียงของร่างกายเราก่อนค่ะ ว่าเขาบอกอะไรเราบ้าง เพราะอาการปวดแต่ละแบบต่างก็มีวิธีดูแลรักษาที่ต่างกันออกไปค่ะ ฉบับนี้เรารู้จักอาการปวดศีรษะในแบบต่างๆ ไปแล้ว ไว้ฉบับหน้ามาเล่าสู่กันฟังใหม่นะคะ ว่าจะมีเสียงเล่าจากร่างกายส่วนไหนมาแชร์ให้ท่านผู้อ่านฟังกันค่ะ แล้วพบกันค่ะ สวัสดีค่ะ