ร่างกายมนุษย์เราถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ธรรมชาติได้สร้างมาอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายมักจัดการสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ด้วยตัวเองโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวเลยก็ได้ มีเพียงบางครั้งที่แสดงอาการต่างๆออกมา เพื่อเป็นสัญญาณให้เราทราบว่าร่างกายต้องการการรักษา หรือต้องการการพัก เพื่อฟื้นฟูส่วนที่มีปัญหา ในทางธรรมชาติบำบัดจะให้ความสำคัญกับเสียงเตือนหรืออาการต่าง ๆ จากร่างกายมาก เพราะความผิดปกติเหล่านี้ จะทำให้เรารู้ว่าเราควรจัดการกับร่างกายอย่างไรต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น
ระบบโครงสร้างร่างกายก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นก็มักมีผลทำให้ร่างกายเกิดความเจ็บปวด และเกิดอาการต่าง ๆมากมาย บางครั้งอาการปวดอาจเพียงแค่รำคาญ บางครั้งปวดจนทนไม่ไหว บางครั้งอาจส่งผลถึงอาการชา อ่อนแรง หรืออัมพฤกษ์ก็เป็นได้ ระบบโครงสร้างร่างกายนั้นหมายรวมถึงกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ระบบไหลเวียนเลือด น้ำเหลือง ทั้งหมดนี้ถือเป็นระบบโครงสร้างร่างกาย ซึ่งต้องอาศัยการทำงานที่เชื่อมถึงกันและกันทุกระบบ โดยหน้าที่หลักของโครงสร้างร่างกายมีดังต่อไปนี้
1.กระดูก (Skeletal bone)
หน้าที่หลักคือเป็นโครงพยุงร่างกาย เป็นตัวป้องกันอวัยวะภายในไม่ให้มีการกระทบกระเทือน เพราะอวัยวะทุกส่วนล้วนสำคัญต่อการมีชีวิตอยู่ หากเพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ และไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดมีปัญหา ย่อมกระทบถึงส่วนอื่นทันที นอกจากนี้ไขกระดูกยังเป็นที่สะสมแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเป็นเสมือนสารตั้งต้นในกระบวนการต่างๆของร่างกาย ไขกระดูกเป็นตัวสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว (ฆ่าเชื้อโรค) เกล็ดเลือด เพื่อนำไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆในร่างกาย
2.กล้ามเนื้อ (Muscle System)
เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของโครงสร้างร่างกาย เป็นตัวกำหนดการทรงตัวของกระดูก ซึ่งจะสามารถเรียงตัวอยู่ในแนวปกติได้ ต้องอาศัยความแข็งแรง ความทนทาน และความสมดุล ของกล้ามเนื้อนั่นเอง กล้ามเนื้อมีเยื่อหุ้มโยงใยตั้งแต่กะโหลกศีรษะไปจรดปลายเท้า ไม่สามารถแยกส่วนกันได้เลย ดังนั้นหากมีความผิดปกติเกิดที่กล้ามเนื้อส่วนใดก็ตาม อาจส่งผลถึงส่วนที่เชื่อมโยงอยู่ได้ตลอดทั้งแนว กล้ามเนื้อมีหลายชั้นวางเรียงซ้อนทับกันอยู่ มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น มัดใหญ่อยู่ด้านนอกปกป้องแรงกระแทกจากภายนอก มัดเล็ก ๆอยู่ลึกสุดช่วยสร้างความมั่นคงต่อแกนกลางกระดูก ปกป้องระบบรากประสาท ช่วยการเคลื่อนไหว ส่งเสริมให้อวัยวะภายในทำงานได้ดีขึ้น กล้ามเนื้อส่วนลึกนี้เป็นหลักสำคัญที่มีบทบาทและควบคุมให้ระบบโครงสร้างร่างกายสมดุล และกล้ามเนื้อมัดลึก
นี่เองที่มักมีปัญหาจนส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด และเรื้อรังจนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเป็นโรคร้ายแรงได้ ส่วนกล้ามเนื้อมัดนอก เนื่องจากเป็นมัดใหญ่ จึงสามารถซ่อมแซมตัวเองได้
3.ระบบการไหลเวียนเลือด-น้ำเหลือง (Circulatory System)
หลอดเลือดแดง (Artery) เป็นเสมือนหน่วยลำเลียงอาหารไปสู่เซลล์ ไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ แม้เราจะบำรุงร่างกายด้วยอาหารที่ดีเพียงใด แพงขนาดไหน หากหน่วยลำเลียง คือระบบการไหลเวียนของเลือดไม่ดี ร่างกายก็ไม่ได้รับสารอาหารที่ดีเหล่านั้นได้ ในขณะเดียวกันอาหารต่าง ๆ ที่เข้าไปสู่ร่างกาย อาจปะปนไปด้วยพิษและเชื้อโรคต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการเผาผลาญ จะต้องมีพิษ หรือมีของเสียตกค้าง ระบบน้ำเหลือง(Lymphatic System)และระบบเลือดดำ (Vein) จะเป็นหน่วยลำเลียงเอาพิษ เอาเชื้อโรคออกจากร่างกาย นั่นหมายความว่าหากหน่วยลำเลียงของเสียทำงานได้ไม่ดีพอ หรือบกพร่องไปก็จะนำพาให้ร่างกายเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้เช่นเดียวกัน
4.ระบบประสาท (Nervous System)
ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างร่างกายโดยตรงก็คือ ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nerve) เป็นระบบที่จะต้องนำคำสั่งจากสมองไปสู่อวัยวะต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมองถือเป็นอวัยวะที่ควบคุมการทำงานทุกส่วนของร่างกายก็จริงอยู่ แต่หากขาดเส้นประสาทซึ่งเป็นเส้นทางที่นำเอาคำสั่งจากสมองไปสู่อวัยวะต่าง ๆแล้ว สมองก็ไม่สามารถสั่งให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้
ไม่ว่าจะเป็นระบบไหลเวียน (Circulatory System) หลอดเลือดแดง (Artery) หลอดเลือดดำ (Vein) ระบบน้ำเหลือง ( Lymphatic System) หรือ ระบบประสาท (Nervous System) ระบบเหล่านี้วิ่งทอดขนานไปด้วยกันตลอดทั้งร่างกาย ภายใต้เส้นไยกล้ามเนื้อ เพราะเหตุนี้เองกล้ามเนื้อจึงเป็นตัวหลักสำคัญมากที่มีผลต่อการทำงานของระบบเหล่านี้ด้วย
ทั้งหมดที่กล่าวมาเพื่อให้ท่านได้ตระหนักว่า ร่างกายมนุษย์นี้เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ยากที่จะมีสิ่งใดลอกเลียนแบบได้ ดังนั้นเมื่อท่านได้ร่างกายมาแล้วจึงควรฝึกฝน ป้องกัน และรักษาร่างกายนี้ให้สมดุล เพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ จนถึงวัยอันควร แล้วเสียงเตือนของร่างกายจะเตือนด้วยอาการปวดต่าง ๆ อย่างไรบ้างนั้นฉบับหน้ามาเช็คตัวเองกันค่ะว่าร่างกายของคุณเตือนอะไรคุณอยู่ แล้วพบกันค่ะ