ฉบับก่อนหน้าได้กล่าวถึงเสียงเตือนของร่างกายที่ส่งสัญญาณบอกให้รู้ว่ามีบางสิ่งไม่สมดุลในร่างกาย อาการปวดหลังเป็นอีกเสียงเตือนที่บอกเราว่าน่าจะมีบางสิ่งที่ผิดปกติเกิดขึ้น มาฟังกันค่ะว่าปวดหลังเป็นปัญหาใหญ่แค่ไหน และที่สำคัญเราไม่ควรปล่อยให้เรื้อรัง
อาการปวดหลังถือเป็นปัญหาที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย และถือเป็นปัญหาของประชากรทั่วโลก ทางสถิติพบว่ามากกว่า 65 % ของประชากรทั่วโลกต้องมีช่วงอายุที่เคยปวดหลังมาก่อน ในวงการแพทย์ถือว่าอาการปวดหลังจัดเป็นปัญหาที่กระทบทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ จากการสูญเสียค่ารักษาพยาบาล อาการปวดหลังมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี ซึ่งปัญหานี้การแก้ไขที่ดีที่สุดคือการป้องกัน และส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรงสมดุล เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ปวดหลัง เนื่องจากสาเหตุของอาการปวดหลังนั้น 90% มาจากโครงสร้างร่างกายที่ไม่สมดุล จนกระทบถึงกล้ามเนื้อ ข้อต่อ หมอนรองกระดูก และระบบเส้นเลือด-เส้นประสาท แล้วทำให้มีอาการปวด อีกเพียง 10 %เท่านั้นที่ผลของอาการปวดมาจากภาวะของโรคอื่น เช่น ปวดจากโรคไต หรือโรคมะเร็ง ฯลฯ
อาการปวดหลังไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด อาการปวดมักมีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น ปวดบริเวณบั้นเอว มีลามหรือร้าวตามแนวแกนกระดูกสันหลัง ร้าวลงสะโพกหรือขา อาจปวดหลังแบบตื้อๆ หรือปวดหลังลึกๆ ปวดเสียวร้าวลงขา ปวดเสียวแปล๊บๆ เมื่อขยับหรือเคลื่อนไหว อาการปวดหลัง-เมื่อยหลังค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนปวดมากแบบทนไม่ไหว ปวดหลังมากจนขยับไม่ได้ ปวดหลัง-หลังการออกกำลังกาย เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้ปวดหลัง ลักษณะอาการปวด สิ่งที่ทำให้อาการปวดลดลง หรือเป็นมากขึ้น เหล่านี้จะเป็นตัวบ่งชี้ได้ระดับหนึ่งว่า อาการปวดหลังที่เป็นอยู่นั้น มาจากปัญหาส่วนไหนของหลัง และหากได้ร่วมกับการตรวจพิเศษอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจพิเศษในทางกายภาพบำบัด การตรวจเพื่อสืบค้นรอยโรค เช่น X-Ray MRI เป็นต้น ก็จะทำให้สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนมากขึ้น การวินิจฉัยที่ตรงกับปัญหาของแต่ละเคส ก็จะทำให้การวางแผนและการรักษามีพัฒนาการที่ดีขึ้นด้วย
หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ถือเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มีอาการปวดหลัง หลายท่านอาจสงสัยว่า ปวดหลังลักษณะไหนถึงจัดเป็นหมอนรองกระดูกเลื่อนทับเส้นประสาท เรามาดูกันค่ะ อาการเหล่านี้อาจบ่งชี้ว่าเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท
- ก้มยกของ แล้วปวดหลังร้าวลงขา
- เอี้ยว-เอื้อมหยิบของ แล้วเสียวแปล๊บที่หลัง ร้าวลงสะโพก ลงขา
- รีบลุกจากเก้าอี้ทันที แล้วเสียวแปล๊บลงสะโพกและขา
- พลวดพลาดลุกจากที่นอนเร็วๆ แล้วเสียวหลัง ร้าวลงขา
- ก้มแปรงฟัน ขากเสลดแรงๆ แล้วเสียวแปล๊บลงขา
- ไอและจามแรงๆ แล้วปวดหลัง-ร้าวลงขา ฯลฯ
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทไม่ใช่โรคที่น่ากลัวเลย หากรีบรักษาอย่างถูกทางและถูกเวลา แต่ด้วยความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากโรคนี้ มักเป็นความปวดที่คนส่วนใหญ่จะทนไม่ได้ บวกกับความรุนแรงของอาการเริ่มต้น เป็นความปวดที่ทรมานมาก บางเคสเมื่อเกิดเหตุจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน จะเสียวร้าวลงสะโพก ลงขา ไม่มีแรงยืน และอาจทรุดทันที หรือปวดมากจนไม่สามารถขยับเขยื้อนได้เลย บางเคสแค่หายใจแรงหรือแม้แต่พูดเสียงดังก็ปวดแล้ว ฯลฯ ด้วยความปวดที่รุนแรงและทรมานนี้เอง จึงทำให้ญาติ พร้อมใจกันหามคนที่เป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนส่งโรงพยาบาลเพราะกลัวการเป็นอัมพาตเดินไม่ได้นั่นเอง
โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนเป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้อง ผิดท่าทาง ซึ่งการผิดท่าทางเหล่านี้หากเกิดร่วมกับภาวะโครงสร้างร่างกายกำลังอ่อนแอ หรือเสียสมดุลอยู่ก็มักเกิดปัญหาขึ้น
หมอนรองกระดูก เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างกระดูกสันหลัง มีลักษณะคล้ายเจลลี่ ขั้นระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ทำให้เราสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว หมอนรองกระดูกมีหน้าที่ทำให้การเคลื่อนไหวได้ดี รองรับน้ำหนักและกระจายแรงที่กดลงมาที่กระดูกสันหลัง องค์ประกอบของหมอนรองกระดูกส่วนใหญ่มากว่า 70% เป็นน้ำ ที่เหลือจะเป็นพวกคอลลาเจนไฟเบอร์ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีความเหนียวและความทนทานเช่นกัน
จากตำแหน่งที่อยู่ของหมอนรองกระดูกซึ่งขั้นระหว่างกระดูกแต่ละปล้อง ตรงส่วนนี้จะเป็นทางออกของเส้นประสาท ที่เป็นเสมือนท่อใหญ่ของเส้นประสาทเชื่อมต่อออกจากไขสันหลังไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อไปควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งถ้าเคลื่อนช่วงหลังก็จะมีผลที่สะโพก และขา จึงทำให้มีอาการปวดร้าวลงสะโพกและขาได้
ส่วนสาเหตุที่มีอาการปวดมากเพราะ บริเวณรอบ ๆกระดูกสันหลังนั้น ถ้านับจากด้านในสุดก็จะมีเส้นประสาทจำนวนมาก มีเนื้อเยื่อต่างๆ อยู่รอบๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ซึ่งเนื้อเยื่อเหล่านี้ล้วนมีเส้นประสาทเป็นจำนวนมาก เมื่อหมอนรองกระดูกเคลื่อน ก็ส่งผลให้เนื้อเยื่อเหล่านี้เกิดการบาดเจ็บและเมื่อกดทับเส้นประสาท ก็ยิ่งทำให้ปวดมากและปวดร้าวไปตามแนวทางเดินของเส้นประสาท เพราะเป็นส่วนที่รับรู้ความรู้สึกในร่างกาย เป็นเนื้อเยื่อที่เมื่อบาดเจ็บแล้ว จะรู้สึกเจ็บปวดมากกว่ากล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ หลายเท่า
การรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทให้หายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด…..
หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทมีกลไกการเกิดที่ชัดเจน เมื่อเป็นขึ้นมาเฉียบพลัน อันดับแรกทั้งผู้เจ็บและผู้ที่อยู่ใกล้เคียงต้องตั้งสติ เพราะทราบแล้วว่าเป็นธรรมดาที่ต้องเจ็บปวดมาก จัดท่าให้อยู่ในท่าที่จะช่วยผลักหมอนรองกระดูกเข้าที่ และช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายมากที่สุด เบื้องต้นคือท่านอนคว่ำโดยใช้หมอนรองท้องให้ตรงบั้นเอวสูงกว่าเท้าและศีรษะ นำแผ่นเย็นมาประคบไว้ที่บั้นเอว นอนสักพัก อาการปวดจะดีขึ้น
การรักษาหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท มีแนวทางที่ไม่ต้องผ่าตัดก็ทำให้หายได้ การปรับสมดุลโครงสร้างร่างกาย ด้วยกายภาพบำบัดประยุกต์ การรักษาด้วยเทคนิคเฉพาะของโรคนี้ ร่วมกับการออกกำลังเพื่อดึงให้หมอนรองกระดูกเข้าที่ การสร้างกำลังกล้ามเนื้อให้แข็งแรง สมดุล เรียนรู้ท่าทางที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นอีก นั่นคือการแก้ปัญหาที่ถาวร การเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนนั้น หากรีบมาทันทีหลังจากเป็นก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกมาด้วย
ช่วงแรกของการเป็น หากมี Back support ใส่พยุงเอาไว้ จะยิ่งทำให้การซ่อมแซมของเนื้อเยื่อต่าง ๆ หายเร็ว เพราะ Back support จะเป็นตัวช่วยประคองกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บไว้ พยุงแนวกระดูกสันหลัง และที่สำคัญการใส่ Back support พยุงแนวกระดูกสันหลังไว้จะทำให้มีแรงผลักกลับเข้าที่ของหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกมาด้วย