ฉบับก่อน ได้เล่าถึงอาการและสาเหตุของ ปวดเข่าจากเข่าเสื่อม และปวดเข่าด้านนอก จากกล้ามเนื้อที่ไม่สมดุลไปแล้ว ฉบับนี้จะขอเล่าถึงอาการปวดเข่าอีกกลุ่มหนึ่งค่ะ คือปวดเสียวเข่าด้านใน
การปวดเข่าด้านในนี้ ถือเป็นกลุ่มอาการจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่ไม่สมดุลอีกกลุ่มหนึ่งค่ะ ส่วนใหญ่พบในวัยรุ่นที่เล่นกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ และมักพบมากในกลุ่มคนที่เพิ่มระดับความยากในการออกกำลังกายขึ้นอย่างทันทีทันใด โดยที่ร่างกายอาจยังไม่พร้อม ซึ่งกรณีนี้ก็มักพบอาการบาดเจ็บได้บ่อยในทุกส่วนของร่างกายค่ะ เข่าก็เช่นกัน โดยเฉพาะการออกกำลังกายในท่ายืนย่อเข่า แล้วยกน้ำหนักที่หนักๆ หรือออกแรงที่ขาหนัก ๆ หรือวิ่งเพิ่มระยะทางมากขึ้นทันทีไม่ได้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยให้ร่างกายพร้อมก่อน หรือออกกำลังกายด้วยการกระโดดเยอะๆ นอกจากนี้ การล้มบ่อยๆ จากการเล่นกีฬาที่มีการกระแทกให้ล้ม โดยเฉพาะท่าล้มที่เข่าบิดเข้าด้านใน มักก่อให้เกิดการบาดเจ็บทีละเล็กทีละน้อยที่เข่าด้านใน จนทำให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในที่สุด
ทั้งนี้ จะพบว่าอาการปวดเข่าด้านใน มักเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดเข่าเสื่อมได้ง่าย หากไม่ได้ดูแลตั้งแต่ต้น อาการปวดเสียวแปล๊บที่เข่าด้านในอาจรู้สึกชัดเวลาลงบันไดหรือเดินมากๆ ส่วนใหญ่จะพบว่าบริเวณที่ปวด จะปวดที่ขอบของลูกสะบ้าด้านใน (Medial part of patellar) หรือด้านในเยื้องลงของลูกสะบ้า(Inferomedial part of patellar) โดยขอสรุปสาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดเข่าด้านใน ว่ามาจากโครงสร้างใดบ้างของข้อเข่า ดังต่อไปนี้ค่ะ
กล้ามเนื้อต้นขาด้านในอ่อนแรง (Weakness of Vastus medialis oblique muscle) กล้ามเนื้อมัดนี้จะมีจุดเกาะจากด้านในข้อสะโพกแผ่ยาวทอดลงมาเกาะที่ด้านในของกระดูกสะบ้า หน้าที่ของกล้ามเนื้อนี้คือให้ความมั่นคงของเข่าด้านใน ส่วนใหญ่ กล้ามเนื้อมัดนี้จะอ่อนแรงเพราะเราชอบนั่งอ้าขา ส่งผลให้ลูกสะบ้าอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เวลาเคลื่อนไหวจึงทำให้ผิวข้อเข่าครูดจนทำให้เกิดอาการเสียว-ปวดขึ้นมา
เอ็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านในอักเสบ (Pes anserine tendinitis) ซึ่งประกอบด้วยเอ็นกล้ามเนื้อ 3 ตัว ได้แก่ Sartorius tendon, Gracilis tendon และ Semitendinosus tendon เอ็นของกล้ามเนื้อทั้ง 3 ตัวนี้จะแผ่เกาะที่หัวกระดูกหน้าแข้งด้านใน การงอ-เหยียดเข่าบ่อยๆ หรือออกแรงต้นขามากๆ ทำให้เป็นแรงเสียดสีของปุ่มกระดูกกับเอ็นกล้ามเนื้อทั้ง 3 ตัว จึงเกิดการอักเสบและบาดเจ็บตามมา
การฉีกขาดของหมอนรองเข่า ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นที่ด้านในต้นขา (Medial meniscus tear) กรณีนี้ มักเกิดจากอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา ถูกกระแทกล้ม ขาพลิกล้ม ล้มในท่าที่เข่าบิดเข้าด้านใน เกิดการฉีกขาดของหมอนรองข้อเข่า หรือกรณีของนักกีฬา จะเป็นอาการบาดเจ็บจากการใช้งานเข่าหนักๆ ต่อเนื่องกันนานๆ ทั้งนี้ หมอนรองกระดูกเข่าจะมีส่วนที่บาดเจ็บแล้วสามารถซ่อมแซมได้ แต่ส่วนข้างในที่ลึกๆ จะซ่อมแซมได้ยาก เพราะไม่มีหลอดเลือดหล่อเลี้ยง ซึ่งจะซ่อมแซมได้จากการทำกายภาพบำบัดออกกำลังให้ข้อเข่าขยับให้น้ำหล่อลื่นในข้อช่วยหล่อเลี้ยง
สะโพกหรือขาผิดรูป เข่าบิดเข้าด้านใน กรณีนี้อาจเป็นแต่กำเนิด หรือเป็นจากกล้ามเนื้อสะโพกอ่อนแรง (Hip Abductors muscle weakness) กรณีนี้มักทำให้มีแรงกดที่ข้อเข่าด้านในมากกว่าด้านนอก ทำให้เยื่อหุ้มข้อด้านนี้ถูกยืดมากกว่าปกติ มีการครูดของผิวข้อได้มากกว่า จึงทำให้เสียวแปล๊บที่เข่าหรือปวดเข่าด้านในได้ กรณีนี้ก็มักเป็นปัจจัยให้เกิดข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วยเช่น น้ำหนักตัวมาก พับข้อเข่านานๆ หรือเคยมีประวัติเข่ากระแทกจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
ฯลฯ
ท่านผู้อ่านสังเกตไหมคะว่า อาการปวดเสียวเข่านั้น มักเริ่มต้นจากเหตุเพียงเล็กน้อย หรือเริ่มจากมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากปล่อยเรื้อรัง ก็มักทำให้เป็นภาวะเสี่ยงที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมในที่สุด ตรงกันข้ามหากเราคอยพิจารณาสัญญาณเตือนของร่างกายที่ปรากฏอาการผิดปกติ เราก็จะสามารถดูแลและแก้ไขได้ทันท่วงที
อาการปวดเข่าสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่เราควรตระหนักให้มาก เพราะข้อเข่าเป็นส่วนที่สำคัญมากต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย หากได้รับการบาดเจ็บแล้วปล่อยให้เรื้อรัง มักเกิดปัญหาตามมามากมาย ซึ่งไม่เพียงแค่อาการปวดเท่านั้น แต่อาจส่งผลถึงขั้นทุพพลภาพอันหมายถึงการสูญเสียสมรรถภาพของร่างกาย รวมไปถึงภาวะจิตใจ จนไม่สามารถดำรงชีวิตได้เป็นปกติ
ปัญหาที่เกิดกับเข่านั้น ทางแก้ไขที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุดคือการออกกำลังกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อพยุงข้อเข่าไว้ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อสะโพกที่เป็นตัวหลักช่วยพยุงข้อเข่า หลายท่านอาจมีความคิดว่าเมื่ออายุมากความเสื่อมก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เราห้ามไม่ได้ แต่สำหรับร่างกายมนุษย์นั้น การฝึกกล้ามเนื้อหรือการสร้างร่างกายให้แข็งแรง สามารถสร้างและฝึกได้จนชั่วอายุขัย ขึ้นอยู่กับว่าเราได้ฝึกและฝึกให้ถูกต้องหรือไม่เท่านั้น
ขอให้ตระหนักว่าร่างกายเราแข็งแรงได้ ชะลอความเสื่อมได้ด้วยการฝึก …บางเคสอายุหกสิบกว่า ปวดเข่ามากจนเดินลงน้ำหนักไม่ได้เลย ก็ค่อยๆ ออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อมาพยุงเข่า จนในที่สุดก็กลับมาเดินเหินได้สะดวก โดยไม่ปวดและไม่ต้องผ่าตัด … ที่สำคัญ การฝึกนั้นต้องเหมาะกับสภาพร่างกายของเรานะคะ ถึงจะได้มาซึ่งโครงสร้างร่างกายที่แข็งแรงและสมดุล เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เรามีภูมิต้านทานที่ดี ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ และมีสุขภาพที่ดีได้อย่างแท้จริงค่ะ แล้วพบกันฉบับหน้าค่ะ…..
